การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการออนไลน์ The True Identity of “Office Syndrome” and “Fibromyalgia”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการออนไลน์ The True Identity of “Office Syndrome” and “Fibromyalgia”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
รหัสกิจกรรม 1013-2-000-006-04-2565
สถานที่จัดการประชุม ออนไลน์
วันที่จัดการประชุม 24 เม.ย. 2565
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรร้านขายยาที่สนใจจำนวน 150-300 ท่าน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 1.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) คือ อาการปวดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเดิมๆซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ตัวอย่างเช่น การนั่งทำงานต่อเนื่องกับคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทางหรืออริยาบท จนทำให้เกิดอาการปวดสะสมและกลายเป็นปวดเรื้อรังในที่สุด ซึ่งอาจพบร่วมกับอาการชาบริเวณแขน, มือ และปลายนิ้ว เนื่องอาจเกิดจากการที่เส้นประสาทส่วนปลายในแต่ละตำแหน่งถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง
ส่วนโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แม้แต่แพทย์เอง แทบทุกประเทศในโลกยอมรับว่าโรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักและเข้าใจ อาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย คือ เจ็บปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยทรมานและเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา เหนื่อยง่าย เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดศรีษะ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ โดยอาการปวดอาจจะเริ่มปวดแค่จุดเดียวก่อน แต่พอนานวันเข้าจุดปวดก็จะกระจายออกไปเรื่อยๆ ทั่วร่างกาย จะต่างจากคนปกติที่จะปวดกระจุดตัวอยู่จุดเดียว เช่น หากกระแทกบริเวณเข่าก็จะปวดเข่า หกล้มเอาข้อศอกลงก็จะเจ็บข้อศอก แต่ผู้ป่วยไฟโบรมัยอัลเจีย จะปวดหลายจุด ปวดลักษณะกระจาย และระยะเวลาที่ปวดต้องเรื้อรัง คือมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ อาการเริ่มแรกอาจจะปวดไม่มาก และเริ่มจากเฉพาะจุด เช่น ปวดศรีษะ หลายคนก็คิดว่าเป็นไมเกรน ก็จะพบแพทย์เพื่อรักษาอาการไมเกรน และไม่หาย หรืออาจะปวดกล้ามเนื้อ ก็เข้าใจว่าเป็นเพราะกล้ามเนื้ออักเสบหรือกล้ามเนื้อล้าจากการทำงาน ก็ไปบำบัดด้วยการสปา หรือนวด ทำให้โรคไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
สำหรับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจียนั้น ในทางการแพทย์จะมีจุดปวดทั่วร่างกายอยู่ 18 จุด ถ้าป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการปวดที่จุดปวดพร้อมๆ กันประมาณ 11 จุด วิธีการตรวจก็คือ แพทย์ต้องกด แรงกดอยู่ที่ประมาณ 4 กิโลกรัม ถ้ากดแล้วเจ็บมากกว่า หรือเท่ากับ 11 จุด แสดงว่าเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ส่วนระดับความเจ็บปวดจะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะเจ็บมากผิดปกติ กดแค่เบาๆ จะเจ็บมาก ถึงขั้นสะดุ้ง หรือร้อง โดยปกติการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้แน่หรือไม่ ต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน จากนั้นก็จะนำไปสู่การรักษา ซึ่งหากรักษาถูกวิธีอาการก็จะดีขึ้นภายใน 3 ปี โดยการให้ยา ที่ออกฤทธิ์ในส่วนของเซลล์สมอง เพื่อแก้ปัญหาเซลล์สมองรับความเจ็บปวดทำงานมากเกินปกติ ควบคู่ไปกับยากลุ่มลดอาการซึมเศร้าและลดอารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้การออกกำลังควบคู่ไปกับการรักษาด้วยา ก็เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคนี้ต้องทำ เพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและลดอาการปวดได้
และเนื่องจากออฟฟิศซินโดรมและไฟโบรมัยอัลเจียมีอาการบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น การได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง รวมถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงของและเรื้อรังของโรคได้
ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้เล็งเห็นว่าอาชีพเภสัชกรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ทางเลือกในการให้การรักษาทั้งการใช้ยา และไม่ใช้ยา รวมถึงเป็นด่านหน้าที่สามารถให้คำปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับออฟฟิศซินโดรม และไฟโบรมัยอัลเจียได้ จึงมีการจัดการประชุมวิชาการออนไลน์ขึ้น ในหัวข้อเรื่อง The True Identity of “Office Syndrome” and “Fibromyalgia” เพื่อให้เภสัชกรได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะทางวิชาชีพในประเด็นดังกล่าว
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เข้าใจถึงคำจำกัดความของ ออฟฟิศซินโดรม และ ไฟโบรมัยอัลเจีย รวมถึงแยกประเภทของอาการปวดแบบต่างๆได้
2. เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการรักษาทั้งแบบที่ใช้ยา และไม่ใช้ยา เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม
3. สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม และ ไฟโบรมัยอัลเจียได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
คำสำคัญ
ออฟฟิศซินโดรม, ไฟโบรมัยอัลเจีย, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดเส้นประสาท, ยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
วิธีสมัครการประชุม
ลงทะเบียนผ่านทางลิงค์