การประชุมวิชาการ
งานประชุมวิชาการออนไลน์ Primary Care and Community Pharmacy (PCCP) 2020
ชื่อการประชุม งานประชุมวิชาการออนไลน์ Primary Care and Community Pharmacy (PCCP) 2020
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-024-10-2563
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันที่จัดการประชุม 15 -18 ต.ค. 2563
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย 1.เภสัชกรชุมชน ทั้งเภสัชกรปฐมภูมิ เภสัชกรร้านยา และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจ 2.อาจารย์และบุคลากร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-Communicable diseases) หรือ โรควิถีชีวิต เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ เป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพทำให้เกิดการเจ็บป่วย ความพิการ การสูญเสียสุขภาวะ คุณภาพชีวิต และตายก่อนวัยอันควร นอกจากนั้นยังเป็นภาระในการดูแลรักษาพยาบาล และนำไปสู่การสูญเสียค่าใช้จ่ายทั้งของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
ในปัจจุบัน เภสัชกรชุมชนในระบบบริการปฐมภูมิทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและร้านยา ซึ่งจัดเป็นด่านหน้าของระบบบริการสุขภาพ มีบทบาทสำคัญและมีบทบาทเพิ่มขึ้นในงานสร้างเสริมสุขภาพทั้งในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำเป็นต้องรับการรักษา ติดตามการใช้ยาและปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตที่จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อโรค นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็มักจะเป็นผู้ป่วยสูงอายุที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องและใช้ยาหลายรายการ จึงมีโอกาสเกิดปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วย ความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาหรือปัญหาที่ไม่ให้ความร่วมมือการใช้ยา (non-compliance) รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อผลลัพธ์การรักษา ทำให้การรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ภายหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน ซึ่งมีเป้าหมายในการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยให้ร้านยารับใบสั่งยาเพื่อบริการผู้ป่วย ในผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิต หอบหืด และจิตเวช ดังนั้น เภสัชกรชุมชน จึงควรมีความรู้ที่ทันสมัย ถูกต้อง รวมถึงมีทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน รวมถึงการมีกรอบแนวคิดในการนำศาสตร์แขนงต่าง ๆ ทางเภสัชกรรมมาผสมผสานเพื่อใช้ในการค้นหา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาและปัญหาพฤติกรรมสุขภาพเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายของการให้บริการด้านยาโดยเภสัชกรชุมชน
ในการนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดการอบรมนี้เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้เภสัชกรปฐมภูมิ ได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเพื่อยกระดับศักยภาพในการบริบาลทางเภสัชกรรมให้เป็นมาตรฐานและมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ปลอดภัยสูงสุด ตลอดจนสามารถรองรับระบบการจ่ายยาตามใบสั่ง ตามนโยบายลดความแออัดของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้เภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
2.เพื่อให้เภสัชกรได้ตระหนักถึงงานสร้างเสริมสุขภาพที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการใช้ยาในโรคเรื้อรัง
3.เพื่อเสริมองค์ความรู้ของการบริบาลเภสัชกรรมระดับปฐมภูมิในชุมชน และเพื่อให้ทราบแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามหลักฐานทางวิชาการ
4.เพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของเภสัชกรชุมชนในระดับปฐมภูมิ ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
คำสำคัญ
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
วิธีสมัครการประชุม
ลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านระบบPharMOOC@UBU