การประชุมวิชาการ
ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ Health Product Vigilance: Tools and Network Experience
ชื่อการประชุม ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ Health Product Vigilance: Tools and Network Experience
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-036-07-2560
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
วันที่จัดการประชุม 18 ก.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรในจังหวัดสงขลา ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นงานที่มีความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากเป็นการดำเนินการจัดการความเสี่ยงในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับหน่วยควบคุมด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ ตลอดจนผู้ป่วยที่ใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ครอบคลุมทุกกิจกรรมในด้านการจัดการความเสี่ยง รวมถึงมีการส่งต่อและเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ จึงจะส่งผลให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เหมาะสมและผู้บริโภคเกิดความปลอดภัย
เครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินงานเฝ้าระวังตามกรอบนโยบายของเขต 12 มาอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ปัจจุบันเครือข่ายจังหวัดสงขลา ประกอบด้วยสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ต่อมาได้มีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานนอกสังกัดและเอกชนมากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทันตกรรม โรงพยาบาลค่ายเสนาณรงค์ โรงพยาบาลเอกชน และศูนย์สุขภาพชุมชนเทศบาลตำบล รวมถึงภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา เครือข่ายฯ ได้ดำเนินงานเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ มาอย่างต่อเนื่อง มีการวางระบบป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในทุกสถานพยาบาล อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่ผ่านมาเน้นการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากปฏิกิริยาของยาแผนปัจจุบันเป็นหลัก ส่วนรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ได้แก่ ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพยังมีการรายงานที่น้อยมาก และยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปฏิกิริยาของผลิตภัณฑ์ (product reaction) เช่น ความคลาดเคลื่อนทางยา การใช้ยาในทางที่ผิด การพบผลิตภัณฑ์ปลอมปน การใช้ผลิตภัณฑ์ยา/ยาชีววัตถุไม่ได้ผล เป็นต้น รวมถึงการขยายเครือข่ายที่ยังไม่ครอบคลุมทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลความเสี่ยงต่าง ๆ ได้
ดังนั้น เครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพจังหวัดสงขลา จึงเห็นสมควรในการจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการ และจัดการระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ให้ครอบคลุมมากขึ้น และเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับครอบคลุมทั้งเครือข่าย ทำให้ผู้บริโภคเกิดความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้และทักษะในการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ
2. เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
3. เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานทุกภาคีเครือข่าย
คำสำคัญ
เฝ้าระวังความปลอดภัย, เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์, Health Product Vigilance, Adverse drug event
วิธีสมัครการประชุม
-