บทคัดย่อ
Neuroleptic malignant syndrome (NMS) เป็นอาการอันไม่พึงประสงค์จากยา ที่แม้จะพบได้ไม่บ่อยแต่ถ้าพบจะก่อให้เกิดผลที่รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ กลไกการเกิด NMS จากยาที่สำคัญเกิดจากการได้รับยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งตัวรับโดปามีน (dopamine, DA) โดยเฉพาะที่ออกฤทธิ์ต้านตัวรับ DA2 ซึ่งพบรายงานสัมพันธ์กับ ยาต้านอาการทางจิต (antipsychotics, APs) เช่น haloperidol, fluphenazine depot เป็นต้น หรือ ยาต้านอาเจียน (antiemetics) เช่น metoclopramide เป็นต้น NMS มีการรายงานครั้งแรกในปี 1968 โดย Delay and Deniker(1-3) ได้รายงานกลุ่มอาการป่วยที่รุนแรงจากการใช้ยาจิตเวช ซึ่งเรียกกลุ่มอาการดังกล่าวว่า akinetic hypertonic syndrome ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็น neuroleptic malignant syndrome(3-4) เนื่องจาก NMS เมื่อเกิดขึ้นแล้วส่งผลรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ เภสัชกรชุมชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลติดตามผลจากการใช้ยาเพื่อรักษา ควบคุมอาการในผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกส่งตัวมารับยาที่ร้านยาตามนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐโดยการรับยาใกล้บ้าน จึงควรที่จะสามารถสังเกตุอาการเบื้องต้น และเฝ้าระวังเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากยาด้านจิตเวชต่างๆซึ่งที่สำคัญหนึ่งในนั้นคือ NMS ได้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาสูงสุด ผ่านกระบวนการให้บริบาลทางเภสัชกรรม การให้คำปรึกษาและกระบวนการเฝ้าระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเพื่อจัดการแก้ไขได้อย่างทันเหตุการณ์ จึงเป็นที่มาของบทความนี้เพื่อทบทวนลักษณะการแสดงของอาการ ปัจจัยเสี่ยงและแนวทางการจัดการเบื้องต้นได้