บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไมโครแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis (M. tuberculosis) ในปัจจุบันนอกจากการรักษาผู้ป่วยวัณโรคแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคในผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (latent tuberculosis infection: LTBI) ซึ่งหมายถึง ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ M. tuberculosis แฝงอยู่ในร่างกาย แต่ไม่มีอาการแสดงผิดปกติใด ๆ และไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ โดยในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ใหญ่หรือเด็กที่อาศัยร่วมกับผู้ป่วยติดเชื้อเอช ไอ วี หรือ ผู้ป่วยวัณโรค เป็นต้น พบว่าร้อยละ 5 - 10 จะกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรค (active TB) ได้ สูตรยาที่ใช้รักษาวัณโรคระยะแฝงมีหลายสูตรการรักษา โดยสูตรการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคและผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการทานยาจนครบสูตรการรักษามากที่สุดได้แก่ สูตรยา rifapentine ร่วมกับ isoniazid ทานสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกันนาน 12 สัปดาห์ (สูตร 3HP) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับสูตรมาตรฐานซึ่งใช้ isoniazid ชนิดเดียว แต่ต้องทานยาทุกวันต่อเนื่องกันนาน 9 เดือน (สูตร 9H) การรักษาภายใต้การสังเกตโดยตรง (directly observed therapy: DOT) หรือรักษาแบบผู้ป่วยทานเอง (self-administered therapy: SAT) ในกรณีที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาแบบ DOT และสามารถใช้รักษาในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 2 ปี ปัจจุบันยังมีการวิจัยพบสูตรการรักษาที่ให้ยาในเวลาที่สั้นขึ้นคือสูตรยา rifapentine ร่วมกับ isoniazid ทานทุกวันติดต่อกันนานหนึ่งเดือน ซึ่งให้ประสิทธิภาพการป้องกันการป่วยเป็น active TB ได้เทียบเท่ากับสูตรมาตรฐาน (9H) อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ ความปลอดภัยเมื่อใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ การเกิดเชื้อดื้อยา การศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาโดยเฉพาะยาที่ถูกเมแทบอลิซึมด้วย CYP3A4, CYP2C8 และ CYP2C9 และการติดตามประสิทธิผลและอาการไม่พึงประสงค์ในระยะยาว เป็นต้น