บทความวิชาการ
เรื่อง การจัดการปัญหาความผิดปกติทางเพศจากยาจิตเวช
ชื่อบทความ เรื่อง การจัดการปัญหาความผิดปกติทางเพศจากยาจิตเวช
ผู้เขียนบทความ อ. ภก. ทวนทน บุญลือ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-1-000-001-08-2560
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 07 ส.ค. 2560
วันที่หมดอายุ 06 ส.ค. 2561
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ความผิดปกติทางเพศเป็นปัญหาที่พบได้ในประชากรทั่วไปและพบมากขึ้นหากเป็นผู้ป่วยจิตเวช สาเหตุการเกิดความผิดปกติทางเพศในผู้ป่วยจิตเวชอาจเกิดได้จากผลจากอาการของโรคจิตเวชเองหรือเกิดจากยาที่ใช้ในการรักษา ปัญหาความผิดปกติทางเพศสามารถแบ่งตามระยะของการตอบสนองทางเพศได้เป็น การมีความต้องการทางเพศลดลง การไม่ตื่นตัวทางเพศและการไม่สามารถเกิดความเสียวสุดยอดทางเพศ โดยกลไกการเกิดความผิดปกติทางเพศเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานของสารสื่อประสาท การเกิดความผิดปกติทางเพศจากยาต้านโรคจิตเชื่อว่าเกิดจากผลทางอ้อมจากการเกิดภาวะระดับฮอร์โมน prolactin ในเลือดสูงเนื่องจากการปิดกั้นตัวรับ dopamine ชนิด D2 ซึ่งยาที่พบอุบัติการณ์การเกิดได้บ่อย ได้แก่ ยาต้านโรคจิตรุ่นที่หนึ่งและยา risperidone นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการปิดกั้นตัวรับ cholinergic, histamine และ norepinephrine ได้อีกด้วย ส่วนสาเหตุจากยาต้านเศร้าเชื่อว่าเกิดจากการเพิ่มสารสื่อประสาท serotonin ซึ่งกระตุ้นตัวรับ 5-HT2 และ 5-HT3 สำหรับยากลุ่ม mood stabilizers และ benzodiazepines เกิดความผิดปกติทางเพศได้น้อย การประเมินผู้ป่วยสามารถใช้แบบประเมินที่มีความน่าเชื่อถือในการศึกษาวิจัย เช่น Arizona Sexual Experiences Scale (ASEX) สำหรับในทางคลินิกควรทำการประเมินโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและการทบทวนประวัติการใช้ยา เมื่อสาเหตุของการเกิดความผิดปกติทางเพศเกิดจากยาจึงพิจารณาแนวทางการแก้ไข โดยหากเกิดจากยาต้านเศร้าอาจมีหลายวิธี ได้แก่ การรอให้ผู้ป่วยหายจากอาการหรือทนยาได้ การหยุดยาบางวัน การให้คำแนะนำรักษาโดยไม่ใช้ยา การเปลี่ยนเป็นยาต้านเศร้าที่มีอุบัติการณ์การเกิดน้อยกว่าและการเพิ่มยาที่รักษาความผิดปกติทางเพศ สำหรับการเกิดความผิดปกติทางเพศจากยาต้านโรคจิตสามารถแก้ไขได้โดย การเริ่มยาหรือเปลี่ยนเป็นยาต้านโรคจิตที่มีอุบัติการณ์การเกิดความผิดปกติทางเพศน้อยและการเพิ่มยาที่รักษาความผิดปกติทางเพศ
คำสำคัญ
ความผิดปกติทางเพศ ยาจิตเวช การจัดการ