บทความวิชาการ
การใช้ยาเพื่อป้องกันการชักในผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บทางสมอง
ชื่อบทความ การใช้ยาเพื่อป้องกันการชักในผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บทางสมอง
ผู้เขียนบทความ ภก.นัทพล มะลิซ้อน
สถาบันหลัก โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
รหัสกิจกรรม 4001-1-000-001-02-2560
ผู้ผลิตบทความ โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 21 ก.พ. 2560
วันที่หมดอายุ 20 ก.พ. 2561
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
อุบัติเหตุทำให้เกิดความเสียหายของอวัยวะต่างๆ รวมถึงสมองซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสั่งการทำงานของร่างกาย การบาดเจ็บของสมองมีทั้งแบบปฐมภูมิที่เกิดจากอุบัติเหตุโดยตรง และแบบทุติยภูมิซึ่งเกิดจากกลไกการซ่อมแซมหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามมาจากความเสียหายของสมองหรือเซลล์ประสาท ซึ่งการบาดเจ็บแบบทุติยภูมิเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ดีในระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล การป้องกันการชักถือเป็นการป้องกันการบาดเจ็บแบบทุติยภูมิวิธีหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายของเนื้อสมองเพิ่มมากขึ้นลดการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง การป้องกันการชักที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยการใช้ยากันชักร่วมกับการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการชัก เช่น อุณหภูมิกายที่สูง ความผิดปกติของน้ำตาลหรือเกลือแร่ในเลือด เป็นต้น การใช้ยาป้องกันการชักจะให้เป็นระยะเวลา 7 วันนับจากการบาดเจ็บทางสมอง เพื่อหวังผลลดการเกิด early PTS ในช่วงสัปดาห์แรก ซึ่งยาที่เป็นยาทางเลือกแรกในการป้องกันการชักจากการบาดเจ็บทางสมองคือ Phenytoin ซึ่งต้องให้ Loading dose 20 มก./กก. แล้วตามด้วย maintenance dose เพื่อคงให้ระดับยาในเลือดอยู่ในช่วง 10 -20 มก./ดล. และมีการติดตามการตอบสนองและอาการข้างเคียงอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อยา Phenytoin ได้ อาจพิจารณาเลือกใช้ Levetiracetam ซึ่งมีประสิทธิภาพที่ไม่แตกต่างกัน แต่อาจมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาที่เพิ่มขึ้น ในกรณีที่มีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายอาจพิจารณา Valproic acid เป็นทางเลือกถัดไป ส่วน Carbamazepine จะพิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อสามารถใช้ยา 3 รายการที่กล่าวมาข้างต้นได้ เภสัชกรในฐานะที่เป็นผู้ให้การดูแลเกี่ยวกับการใช้ยาควรมีการประเมินผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อหาความเสี่ยงต่อการชักโดยเฉพาะยาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการชักได้ พิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่อาจมีผลต่อเภสัชจลนพลศาสตร์ของยากันชัก รวมถึงวางแผนติดตามประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
คำสำคัญ
ยากันชัก การบาดเจ็บทางสมอง Antiepileptic Seizure Prophylaxis