บทความวิชาการ
ฮอร์โมนฝังใต้ผิวหนังคุมกำเนิด (Contraceptive subdermal implants)
ชื่อบทความ ฮอร์โมนฝังใต้ผิวหนังคุมกำเนิด (Contraceptive subdermal implants)
ผู้เขียนบทความ รศ.ภญ.วรรณคล เชื้อมงคล
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รหัสกิจกรรม 1008-1-000-002-09-2559
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 27 ก.ย. 2559
วันที่หมดอายุ 26 ก.ย. 2560
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ฮอร์โมนฝังใต้ผิวหนังคุมกำเนิดในประเทศไทยปัจจุบันมี 3 ชนิด ได้แก่ Norplant®, Jadelle® และ Implanon NXT® โดยทั้ง 3 ชนิดเป็นระบบที่แคปซูลหรือหลอดที่ใช้ฝังไม่สลายตัว (non-biodegradable implants) ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินสังเคราะห์ กลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนฝังใต้ผิวหนังคุมกำเนิดคือ ยับยั้งการตกไข่ ทำให้เกิดการหนืดข้นของมูกปากมดลูก ซึ่งมีผลขัดขวางการเคลื่อนที่ของสเปิร์มไปผสมกับไข่ และยังมีฤทธิ์ต่อเยื่อบุมดลูกทำให้ผนังมดลูกบางลง ไม่เหมาะสมต่อการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ข้อดีของการคุมกำเนิดโดยวิธีนี้คือ อัตราการล้มเหลวต่ำ มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการตั้งครรภ์ ให้ผลระยะยาวจากการใช้ครั้งเดียว เหมาะสำหรับผู้ที่มักลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดเป็นระยะยาว (3-5 ปี) ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมงหลังฝังยา และไม่มีผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์หลังหยุดใช้ อีกทั้งสามารถใช้ในสตรีให้นมบุตรได้โดยไม่มีผลต่อการหลั่งน้ำนมของมารดา และการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายและสมองของทารก แต่มีข้อเสียคือ ผู้ใช้ไม่สามารถเริ่มหรือหยุดใช้ยาได้เอง ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และมีราคาแพงกว่าการคุมกำเนิดวิธีอื่น อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ เลือดประจำเดือนออกผิดปกติ หรือไม่มีเลือดประจำเดือน ปวดศีรษะ น้ำหนักเพิ่ม เป็นสิว เจ็บคัดตึงเต้านม และอาการผิดปกติบริเวณที่ฝังยา
คำสำคัญ
ฮอร์โมนคุมกำเนิด