บทความวิชาการ
มะเร็งเต้านมและการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
ชื่อบทความ มะเร็งเต้านมและการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
ผู้เขียนบทความ ภญ.วันฤดี จันทรศาล ภก.กฤษฏิ์ชภัสร์ ฉัตรชวินพร เเละภก.อนวัช มิตรประทาน
สถาบันหลัก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
รหัสกิจกรรม 5001-1-000-001-05-2566
ผู้ผลิตบทความ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 23 พ.ค. 2566
วันที่หมดอายุ 22 พ.ค. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย และพบว่าเป็นมะเร็งที่พบอุบัติการณ์มากเป็นอันดับเเรกในหญิงทั่วโลกรวมทั้งในหญิงไทย จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งเเห่งชาติ กรมการเเพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ. 2563 มีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตและแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่นจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้นก็ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด และแม้ว่าในปัจจุบันผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมสามารถลดอัตราการตายและมีอัตรารอดชีวิตได้มากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาวิธีการรักษาในปัจจุบันให้มีความหลายหลาย เช่น การผ่าตัดเต้านม การรักษาด้วยการฉายรังสี การรักษามะเร็งเต้านมด้วยยามุ่งเป้า แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีที่แพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นเพราะการรักษามะเร็งในระยะแพร่กระจายนั้นรักษาได้ยาก และมีอัตราการรักษาหายต่ำ การรักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นวิธีที่มีการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยรองรับว่าได้ผลในการรักษาจนมีการนำมาใช้เป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาเสริม เช่น การรักษาด้วยการยับยั้ง Immune checkpoint หรือ การรักษาด้วยวัคซีน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ไปจะเพิ่มการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการทำงานของเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ และมีความเกี่ยวข้องกับเซลล์เดนไดรต์ (Dendritic cells, DCs) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการนำเสนอแอนติเจนเพื่อกระตุ้น T-cell ซึ่งเป็นกระบวนการที่จำเป็นและสำคัญสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้นในบทความนี้จะกล่าวถึง โรคมะเร็งเต้านมในส่วนของสาเหตุ ปัจจัย และระยะการเกิดโรค การรักษาในปัจจุบัน การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด และบทบาทของ DCs ที่เกี่ยวข้อง วิธีการรักษาด้วย DCs ในปัจจุบัน เพื่อให้เห็นภาพรวม และประโยชน์ของวิธีการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดต่อไปได้
คำสำคัญ
มะเร็งเต้านม, ภูมิคุ้มกันบำบัด