บทความวิชาการ
หลักการของเครื่องบรรจุแคปซูลแข็งอัตโนมัติและแนวทางการตั้งตำรับให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องบรรจุ
ชื่อบทความ หลักการของเครื่องบรรจุแคปซูลแข็งอัตโนมัติและแนวทางการตั้งตำรับให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องบรรจุ
ผู้เขียนบทความ ปรัชญา ทิพย์ดวงตา, สมชาย จันทร์งาม, ชาลิสา แสงอุทัย
สถาบันหลัก สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย)
รหัสกิจกรรม 2004-1-000-001-05-2566
ผู้ผลิตบทความ สมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย)
การเผยแพร่บทความ เฉพาะสมาชิกผู้ผลิตบทความ  
วันที่ได้รับการรับรอง 01 พ.ค. 2566
วันที่หมดอายุ 30 เม.ย. 2567
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
เครื่องบรรจุแคปซูลอัตโนมัติเป็นเครื่องจักรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ต่าง ๆ เครื่องบรรจุแคปซูลอัตโนมัติมีความแตกต่างในด้านกลไกการทำงาน เมื่อเทียบกับเครื่องบรรจุแคปซูลด้วยมือและเครื่องบรรจุแคปซูลกึ่งอัตโนมัติ กล่าวคือ เครื่องบรรจุแคปซูลอัตโนมัติจะมีระบบการทำงานแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การจัดเรียงแคปซูลและแยกฝาออกจากตัวแคปซูล (Capsule orientation and opening station) ขั้นตอนที่ 2 การบรรจุตัวยาลงตัวแคปซูล (Dosing station) ขั้นตอนที่ 3 การคัดแยกแคปซูลที่ไม่เปิด (Flaw capsule rejection station) ขั้นตอนที่ 4 การปิดฝาเข้ากับตัวแคปซูล (Capsule closing station) ขั้นตอนที่ 5 การดันแคปซูลออกจากเครื่อง (Capsule ejecting station) ขั้นตอนที่ 6 การทำความสะอาด (Cleaning station) สำหรับการบรรจุตัวยาลงตัวแคปซูลในขั้นตอนที่ 2 สามารถเลือกรูปแบบของตัวยาที่จะนำมาบรรจุได้หลายรูปแบบ ได้แก่ ผงยา (แกรนูล) เพลเล็ต ของเหลว (น้ำมัน) และรูปแบบยาเม็ดขนาดเล็ก การบรรจุผงยา(แกรนูล)จะเป็นรูปแบบที่มีการใช้เป็นส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมยา โดยผงยา(แกรนูล)จะถูกอัดเป็นสลั๊ก (Slug) ก่อนแล้วจึงจะบรรจุลงในแคปซูล ซึ่งกลไกในการอัดสลั๊กผงยา(แกรนูล) มี 2 แบบ คือ Tamping plunger และ Dosator ข้อมูลด้าน Critical quality attribute (CQA) ของตำรับแคปซูลของยาแคปซูล ได้แก่ ความแปรปรวนของน้ำหนัก (Weight variation) ความสม่ำเสมอของปริมาณตัวยาสำคัญ (Content uniformity) และค่าการละลายของตัวยา (Dissolution) สำหรับ Critical process parameter (CPP) ของเครื่องบรรจุแคปซูลอัตโนมัติที่มีผลต่อ CQA ของตำรับแคปซูล ได้แก่ 1) ระดับความสูงของผงยา(แกรนูล)ใน Dosage hopper 2) ความลึกของ Tamping plunger หรือ ระดับของ Piston ในการอัดสลั๊ก 3) แรงอัดที่ใช้ในการทำให้เกิดแท่งสลั๊ก และ 4) ความเร็วในการบรรจุ นอกจากนี้ สูตรตำรับก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อ CQA ของยาแคปซูล จึงจำเป็นต้องตั้งตำรับยาแคปซูลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ทั้งในเรื่องของขนาดอนุภาค คุณสมบัติการไหล และคุณสมบัติในการตอกอัด เพื่อให้สามารถนำตำรับนั้นมาใช้กับเครื่องบรรจุแคปซูลอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อนึ่งอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารช่วยหล่อลื่นเข้าไปในตำรับที่มีคุณสมบัติอิลาสติกต่ำ เนื่องจากการดันแท่งสลั๊กลงในตัวแคปซูลจะทำให้เกิดแรงเสียดทานที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่เครื่องจักรได้
คำสำคัญ
แคปซูลแข็ง, เครื่องบรรจุแคปซูลอัตโนมัติ, หลักการทำงานเครื่องบรรจุแคปซูล, ตั้งตำรับแคปซูล, แก้ปัญหาเครื่องบรรจุแคปซูลอัตโนมัติ