บทความวิชาการ
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) รวมถึงแนวทางการรักษาและการป้องกันโรค
ชื่อบทความ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) รวมถึงแนวทางการรักษาและการป้องกันโรค
ผู้เขียนบทความ นศภ.คณิสรณ์ กิจบุตร นศภ.ผกาพันธุ์ พัฒนพรภิรมย์ และภก.อนวัช มิตรประทาน
สถาบันหลัก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
รหัสกิจกรรม 5003-1-000-001-09-2565
ผู้ผลิตบทความ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 11 ก.ย. 2565
วันที่หมดอายุ 10 ก.ย. 2566
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
จากการประกาศขององค์การอนามัยโลก (World Health Oragnization, WHO) ที่ประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) เนื่องด้วยจากตัวโรคที่กำลังเกิดการกลับมาระบาดอีกครั้ง ผ่านการติดต่อจากคนสู่คนและสัตว์สู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง ถึงแม้ว่าความรุนแรงของโรคยังน้อย มีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัส เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ แล้วมีผื่นขึ้นตามมา ซึ่งอาการเหล่าสามารถหายได้เองเมื่อร่างกายสามารถกำจัดไวรัสได้ ทำให้ในปัจจุบันการรักษาโรคฝีดาษลิงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) พบว่ายังไม่มียาที่ใช้รักษาแบบจำเพาะเจาะจง เป็นเพียงการรักษาตามอาการ และมีการนำยาต้านไวรัส tecovirimat ซึ่งมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาไข้ทรพิษ (smallpox) นำมาใช้รักษาโรคฝีดาษลิงในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง นอกจากการรักษาโรคภายหลังจากติดเชื้อแล้ว ยังมีแนวทางป้องกันการติดเชื้อด้วยวัคซีน ซึ่งก็เป็นวัคซีนสำหรับไข้ทรพิษที่นำมาใช้กับโรคฝีดาษลิงโดยผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ได้แก่ วัคซีน JYNNEOS และ ACAM2000 ซึ่งวัคซีนทั้งสองนั้นมีข้อห้ามใช้ที่แตกต่างกันไป และใช้ในกรณีที่เป็นผู้ต้องทำงานที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับ orthopoxviruses เพียงเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยเองวัคซีนทั้งสองยังไม่ได้รับการอนุมัติให้มีการนำมาใช้ ด้วยสาเหตุนี้ทำให้มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อฝีดาษลิง ได้แก่ การลดความเสี่ยงจากการติดต่อจากคนสู่คนและสัตว์ป่าสู่คนโดยเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือตุ่มหนองของผู้ติดเชื้อหรือสัตว์ป่าโดยตรง รวมถึงหากมีการนำเนื้อสัตว์มารับประทานต้องผ่านกรรมวิธีปรุงให้สุกก่อนรับประทาน และจากสาเหตุของการติดเชื้อที่แพร่จากสัตว์ได้ นำไปสู่ข้อปฏิบัติในการค้าสัตว์ โดยการออกกฎหมายวิธีการปฏิบัติในการนำเข้าสัตว์ฟันแทะ (Rodent) และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Non-human primates) เพื่อช่วยในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค โรคฝีดาษลิงนั้นถึงจะมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่ก็ยังมีรายงานการเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องเกิดการวิจัยพัฒนาเพื่อที่จะค้นหาวิธีการรักษาโรคฝีดาษลิง ตั้งแต่การค้นหายาที่ใช้ในการรักษาฝีดาษลิง รวมไปถึงการพัฒนาวัคซีนเพื่อที่ป้องกันการติดต่อและบรรเทาความรุนแรงจากการติดเชื้อลงได้ ทำให้ได้มีการศึกษาเพื่อหายาที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วนำมาใช้ในการรักษาโรคฝีดาษลิง จากการศึกษาของ John G. Rizk และคณะ พบว่า brincidofovir และ cidofovir สามารถลดจำนวนไวรัสในกลุ่ม orthopoxvirus ได้ ซึ่งไวรัสฝีดาษลิงได้อยู่ในไวรัสกลุ่มนี้ด้วย และต่อมาได้มีการศึกษาของ Daisuke Akazawa และคณะ พบว่า atovaquone, mefloquine และ molnupiravir สามารถใช้ในการลดจำนวนไวรัสฝีดาษลิงได้ดีกว่า cidofovir แต่การศึกษาที่กล่าวมานั้นเป็นการศึกษาในเซลล์และแบบจำลอง ยังขาดข้อมูลการศึกษาในมนุษย์ หากจะนำมาใช้ในการรักษาโรคฝีดาษลิงจำเป็นต้องทำการศึกษาทั้งในเรื่องของความปลอดภัย และประสิทธิภาพของยาต่อโรคฝีดาษลิงในมนุษย์เพิ่มเติม สุดท้ายในส่วนของวัคซีน ACAM2000 และ JYNNEOS ที่ถึงแม้จะได้รับการอนุมัติให้ใช้แล้วในอเมริกาและในอีกหลายประเทศแต่ก็ยังถือเป็นวัคซีนที่ใหม่ ยังมีการใช้ไม่มาก จึงจำเป็นต้องติดตามประสิทธิภาพ และอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
คำสำคัญ
Monkeypox, MPXV, JYNNEOS, ACAM2000, Tecovirimat, Brincidofovir, Cidofovir, Atovaquone, Mefloquine, Molnupiravir, ฝีดาษลิง