บทความวิชาการ
Autophagy กับการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในมนุษย์
ชื่อบทความ Autophagy กับการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในมนุษย์
ผู้เขียนบทความ ภญ.ผศ.ดร.วิภาวรรณ ศิริกุลพาณิชย์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
รหัสกิจกรรม 1015-1-000-005-07-2565
ผู้ผลิตบทความ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 01 ก.ค. 2565
วันที่หมดอายุ 30 มิ.ย. 2566
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 2.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในมนุษย์ ได้แก่ โรคซาร์ในปี ค.ศ. 2002 และโรคเมอร์สในปี ค.ศ.2012 และการระบาดล่าสุดในปี ค.ศ.2019 ของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะโรคโควิด 19 ที่เกิดจาก SARS-CoV-2 พบการแพร่ระบาดไปทั่วโลกจนกระทั่งปัจจุบัน หลายการศึกษาบ่งชี้ว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในเซลล์ อาจกระตุ้นการสร้าง double membrane autophagosome จำนวนมหาศาล และเหนี่ยวนำให้เกิด autophagy โดย autophagy เป็นกระบวนการเซลล์กลืนกินตัวเอง ช่วยย่อยสารหรือโมเลกุล ตลอดจนออร์กาเนลล์ที่เสียหาย และโปรตีนที่มีมากเกินความจำเป็นภายในเซลล์ และมีบางส่วน autophagy จะรีไซเคิลสารหรือโมเลกุลเหล่านี้ เพื่อช่วยรักษาสมดุลภายในเซลล์ ตลอดจนมีบทบาทต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยหลังการติดเชื้อไวรัสพบว่า autophagy เริ่มต้นกำจัดการติดเชื้อโดยขนส่งอนุภาคไวรัสให้ไลโซโซมย่อย และกระตุ้นการจดจำโดยตัวรับของระบบภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด ที่ส่งสัญญาณเหนี่ยวนำการกำจัดไวรัสโดย interferon หลายการศึกษาพบหลักฐานว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในมนุษย์เกี่ยวข้องกับหลายกระบวนการของเซลล์ที่สัมพันธ์กับ autophagy ซึ่ง autophagy อาจช่วยสนับสนุนการติดเชื้อ และเพิ่มจำนวนไวรัสโคโรน่าในมนุษย์ แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใดที่ชัดเจน หรือสรุปได้ว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในมนุษย์เหนี่ยวนำ autophagy ได้อย่างไร และกลไกของ autophagy นั้นจำเป็นกับการเพิ่มจำนวนไวรัสอย่างไร ในบทความนี้จะรวบรวมการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลไกของ autophagy กับโคโรน่าไวรัสที่พบการระบาดในมนุษย์ทั้งสามชนิด ซึ่งการเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่าง autophagy กับการติดเชื้อและเพิ่มจำนวนไวรัสโคโรน่าในมนุษย์ จะช่วยนำสู่การพัฒนายา หรือการรักษา เพื่อต่อต้านไวรัสทั้งสามชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ
Autophagy, Human coronavirus Infection, Human coronavirus replication