การประชุมวิชาการ
Update disease & Pharmacotherapy in Lower Urinary Tract Symptoms (LUTS), Biosimilar concept, Evidence based in herbal medicine and trend of manufacturing to personalizing medicine; 2D and 3D printing technology
ชื่อการประชุม Update disease & Pharmacotherapy in Lower Urinary Tract Symptoms (LUTS), Biosimilar concept, Evidence based in herbal medicine and trend of manufacturing to personalizing medicine; 2D and 3D printing technology
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
รหัสกิจกรรม 1015-2-000-001-01-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุม โรงแรมสิกขรา พลาโช่ รีสอร์ท บางแสน (Sikhara Plago Resort Bangsaen) ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
วันที่จัดการประชุม 21 ม.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 120 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
Lower Urinary Tract Symptoms (LUTS) คือ กลุ่มอาการทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในประชากรทุกช่วงอายุ โดยกลุ่มอาการหรือภาวะโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ต่อมลูกหมากอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก นิ่วในไต เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยยาหลายชนิดที่มีการออกฤทธิ์ ข้อบ่งใช้ อาการอันไม่พึงประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และการติดตามการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ กอปรกับในปัจจุบันความก้าวหน้าในด้านนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนความรู้ในเชิงบูรณาการเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด
และในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ได้มีการพัฒนายาชีววัตถุ (Biological product) เช่น insulin epoietin monoclonal antibody มาใช้ในการรักษาโรค เช่น เบาหวาน โรคไต โรคทางภูมิคุ้มกัน และโรคมะเร็ง ซึ่งเมื่อยาชีววัตถุต้นแบบได้หมดสิทธิบัตรลง ได้มีการผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าราคาของผลิตภัณฑ์ชีววัตถุคล้ายคลึงย่อมมีราคาต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Originator) มาก เนื่องจากไม่ต้องลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงยามากขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือ การประเมินผลิตภัณฑ์ เพื่อพิจารณาว่ายายาชีววัตถุคล้ายคลึงมีประสิทธิภาพเทียบเท่าผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือไม่ รวมไปถึงข้อมูลของความปลอดภัย การพิจารณาถึงบริษัทที่ผลิต เครื่องมือ และวัตถุดิบที่ใช้มีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งข้อมูลบางส่วนได้อ้างอิงข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลจากผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จึงควรมีความรู้ที่เป็นปัจจุบันเพื่อช่วยในการพิจารณาและตัดสินใจเลือกใช้ยาชีววัตถุคล้ายคลึง รวมไปถึงการพิจาณาเพื่อนำยาดังกล่าวเข้าโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตยาเม็ด 2D and 3D printing ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตจะมีการนำมาใช้มากขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย (Personalizing medicine) ดังนั้นจึงนับว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่บุคลากรทางการแพทย์ควรจะได้เรียนรู้และติดตามต่อไป
นอกจากนี้ในภาคส่วนหนึ่งได้มีการใช้สมุนไพรในการดูแลบำบัดรักษาโรคมากขึ้น เนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐ ที่ให้มีการจัดทำบัญชียาจากสมุนไพรลงบัญชียาแห่งชาติขึ้นมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 และมีการพัฒนาปรับปรุงเรื่อยมา ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จึงควรจะมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรในสาธารณสุขมูลฐานที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based medicine) เพื่อนำมาปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยต่อไป
ดังนั้นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และบริษัทแอสเทลลัส ฟาร์มา (ไทยแลนด์) จำกัด จึงได้ร่วมมือกันเพื่อโครงการประชุมวิชาการ เรื่อง “Update disease & Pharmacotherapy in Lower Urinary Tract Symptoms (LUTS), Biosimilar concept, Evidence based in herbal medicine and trend of manufacturing to personalizing medicine; 2D and 3D printing technology” ขึ้นมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ได้นำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาความสามารถในการทำงานในอาชีพของตนเองในทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ต่อสังคม และการดูแลผู้ป่วยต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและยาที่ใช้ในกลุ่มอาการทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาชีววัตถุ การเลือกใช้ยาชีววัตถุคล้ายคลึง และ 2D-3D printing technology
3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรในสาธารณสุขมูลฐานและงานวิจัยในปัจจุบัน
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
สนใจเข้าร่วมงานประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่ http://bit.ly/2haELs8 โดยเก็บค่าลงทะเบียน ผู้เข้าร่วมโครงการ คนละ 2,000 บาท สำหรับบุคคลภายนอก และ 1,500 บาท สำหรับเภสัชกรจากแหล่งฝึกและแหล่งฝึกที่มี MOU โอนเงินผ่านทางบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาแหลมทอง บางแสน เลขที่บัญชี 386-1-00442-9 ชื่อบัญชี มหาวิทยาลัยบูรพา จากนั้น ถ่ายรูป หรือ scan เอกสารหลักฐานการโอนเงินส่งมาที่ cpe.buu@gmail.com โทร 038-102-610 ต่อ 101 ในเวลาราชการ