การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการ 2nd Thailand Pharmaceutical Medicine Conference Rolling through Pharmaceutical Product Lifecycle
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการ 2nd Thailand Pharmaceutical Medicine Conference Rolling through Pharmaceutical Product Lifecycle
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-010-08-2559
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ (ราชประสงค์)
วันที่จัดการประชุม 30 -31 ส.ค. 2559
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการในประเทศ เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ทำหน้าที่พิจารณาทะเบียน รวมไปถึงผู้ประกอบและภาครัฐจากประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนที่สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 12.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
อุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสลับซับซ้อน วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ยาเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการที่อาศัยการขับเคลื่อนจากข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ (Scientific evidence) ในการตัดสินใจเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิผล และมีคุณภาพสำหรับผู้บริโภค วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ยาประกอบด้วยการคิดค้น พัฒนา การทดสอบผลิตภัณฑ์ยา การกับกับดูแลผลิตภัณฑ์ยา การกำหนดแนวทางในการใช้ยา พิจารณาความคุ้มค่า กำหนดเงื่อนไขในการเบิกจ่ายยา ตลอดจนการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ยาในระบบยาและระบบสุขภาพ รวมถึงการติดตามข้อมูลความปลอดภัยในทุกๆ กระบวนการของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ยา
Pharmaceutical Medicine เป็นศาสตร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษโดยมุ่งเน้นให้การศึกษาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาให้เข้าใจหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ยา แม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาจะทำงานกันในคนละจุดของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ยา และมีความชำนาญเฉพาะส่วนที่รับผิดชอบหลัก แต่ทุกๆ จุดในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ยามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้นการเรียนรู้ให้ครบทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์จะช่วยให้เข้าใจ และเห็นภาพรวมในการดูแลผลิตภัณฑ์ตลอดช่วงชีวิตผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในภาพรวมของอุตสาหกรรมยาและระบบยาอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมยายังมีจุดอ่อนในบางเรื่อง เช่นความเข้าใจถึงความสำคัญของการกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนายา การกำหนดกฎระเบียบบางอย่างที่มากเกินความจำเป็นซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องลงทุนมากกว่าที่ควรจะเป็นส่งผลให้ไม่ขาดแรงผลักดันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาต่อเนื่องเพื่อสนองความต้องการของประชาชน นอกจากนี้ปัญหาความล่าช้าในการอนุมัติทะเบียนยา การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำวิจัยทางคลินิกเพื่อต่อยอดการวิจัยในประเทศ ระบบการบริหารจัดการยากลุ่มพิเศษ เช่นยากำพร้า และยาใหม่ การตั้งราคา และการจัดการให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้
วัตถุประสงค์
1.พัฒนาผู้ประกอบการและผู้กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาให้มีความรู้ที่ทันสมัย และเห็นแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) จากประเทศอื่น
2.เป็นเวทีวิชาการสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเรียนรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ
3.สร้างให้เกิดเครือข่ายวิชาการเฉพาะด้าน ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นระหว่างกันและกันในอนาคต
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
สามารถลงทะเบียนและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> http://tpmc2016.weebly.com