การประชุมวิชาการ
การประชุมวิจัยนานาชาติ เรื่อง “Multi-omics approach in plant system biology”
ชื่อการประชุม การประชุมวิจัยนานาชาติ เรื่อง “Multi-omics approach in plant system biology”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-050-11-2561
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 19 พ.ย. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย คณาจารย์ / นักวิจัย จำนวน 60 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
พืชเป็นแหล่งของอาหาร พลังงาน และสารธรรมชาติที่มีคุณค่ามากมายโดยเฉพาะทางการแพทย์ การศึกษาชีววิทยาเชิงระบบของพืช (plant system biology) ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวิธีการสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเกิดความเข้าใจความสัมพันธ์ของยีนและลักษณะที่แสดงออกของเซลล์ ซึ่งองค์ความรู้นี้จะนำไปสู่การผลิตสารธรรมชาติโดยไม่อาศัยธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะช่วยให้เราสามารถผลิตสารสำคัญที่มีมูลค่าสูงในปริมาณมากโดยอาศัยจุลชีพ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หายาก และสร้างสารสำคัญที่มีโครงสร้างหลากหลายผ่านกระบวนการทางเคมีกึ่งสังเคราะห์
โอมิกส์เทคโนโลยี (Omics technologies) และ เทคโนโลยี sequencing ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้การศึกษาชีววิทยาเชิงระบบมีความก้าวหน้าอย่างมาก Omics technologies ทำให้นักวิจัยได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้แก่ ยีน (genomics and transcriptomics) โปรตีน (proteomics) และสารเมทาโบไลท์ (metabolomics) ได้อย่างสมบูรณ์และนำมาใช้ในการเชื่อมโยงด้วยวิธีการทาง bioinformatics (data science) ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์เชิงระบบขึ้นจากข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็น network หรือ pathway ในการสร้างสารในสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการหาเส้นทางในการสร้างสารนั้น ยังจำเป็นต้องอาศัยความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวเคมีเพื่อพิสูจน์การทำงานที่แท้จริงของยีน/โปรตีน/เอนไซม์ที่ได้จาก omics technologies
โดยภาพรวมแล้วการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูลโดยการรวมเอาข้อมูลจาก omics data และอาศัยโมเดลทางคณิตศาสตร์ ได้รับความสนใจอย่างมาก การศึกษาในลักษณะนี้ทำให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย และท้ายที่สุดจะสามารถทำให้เราประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้
ด้วยคณะเภสัชศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ มีอาจารย์นักวิจัยที่ศึกษาวิจัยทางด้านชีวโมเลกุลของพืชเพื่อค้นหายาใหม่หรือพัฒนาวิธีการใหม่ในการผลิตสารธรรมชาติ อีกทั้งคณะวิทยาศาสตร์ยังมีศูนย์ Omics เปิดให้บริการ นอกจากนี้คณะผู้จัดโครงการได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ Institute of system biology (INBIOSIS), Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ให้บริการงานทางด้าน Omics อย่างครบวงจร จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยทางด้าน Omics จากผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ร่วมกับนักวิจัยชาวไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือด้านงานวิจัยร่วมกันต่อไป จึงเป็นเหตุผลสำคัญของการจัดงานประชุมในครั้งนี้
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระหว่างคณาจารย์และนักวิจัย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในการพัฒนางานวิจัยชีวโมเลกุลด้านพืช โดยอาศัย Omics technologies
- เพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัย และพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานวิจัยชีวโมเลกุลด้านพืช โดยอาศัย Omics technologies และพัฒนาต่อยอดการผลิตสารธรรมชาติที่มีมูลค่าสูงในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยไม่มีอัตราค่าลงทะเบียน