การประชุมวิชาการ
โครงการพัฒนาศักยภาพเภสัชกรชุมชนปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 2
ชื่อการประชุม โครงการพัฒนาศักยภาพเภสัชกรชุมชนปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 2
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-2-000-042-09-2561
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้อง 2316 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่จัดการประชุม 22 ก.ย. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
NCD ย่อมาจาก Non Communicable Disease หรือโรคไม่ติดต่อ โรคที่มาจากพฤติกรรมชีวิตที่ไม่ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคที่เกิดจากบุหรี่ โรคที่เกิดจากการดื่มสุรา โรคเบาหวาน ฯลฯ รายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี ค.ศ.2008 จากยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปีนั้น 57 ล้านคน ปรากฏว่า 36 ล้านคน หรือ 63% เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ อันดับหนึ่ง คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ (48% หรือ 17.28 ล้านคน) โรคมะเร็ง (21% หรือ 7.6 ล้านคน) โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (12% หรือ 4.2 ล้านคน) และโรคเบาหวาน (ที่เป็นสาเหตุโดยตรง 3.5% หรือ 1.3 ล้านคน) ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดมาจากพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป ประมาณ 80% ของยอดผู้เสียชีวิตของโรคไม่ติดต่อ หรือ 29 ล้าน(จาก 36 ล้าน) เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง และมากกว่า 9 ล้านคนที่เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อมีอายุน้อยกว่า 60 ปี (วัยทำงานหารายได้ให้ครอบครัว) และ 90% ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง ระบบหายใจเรื้อรัง และเบาหวาน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 80% ปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ 4 ประการ คือ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย แอลกอฮอล์ที่มากเกินไป และอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โรคไม่ติดต่อมักมาจากการเป็นผู้สูงอายุ การที่เมืองต่างๆเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการวางแผน จึงมีการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งถือได้ว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็น “Intermediate risk factors” (ปัจจัยเสี่ยง) ที่จะนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ฯลฯ
เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเภสัชกรในร้านยา ประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกรับบริการทางสุขภาพเบื้องต้นที่ร้านยาใกล้ชุมชนของตนเอง หากเภสัชกรร้านยา สามารถให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าวได้ดี และสามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าวได้ ก็จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายที่จะตามมาจากโรคดังกล่าวได้อย่างมหาศาล ดังนั้น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับมูลนิธิเภสัชกรรมชุมชนภายใต้โครงการ เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมยาสูบและสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จึงจัดประชุม โครงการพัฒนาศักยภาพเภสัชกรชุมชนขึ้น เพื่อให้มีการสอดแทรกการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมยาสูบไปในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
วัตถุประสงค์
- เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยให้แก่เภสัชกรร้านยา ในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการจัดการปัญหาความเสี่ยงต่อโรคและการควบคุมยาสูบ
- เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพด้านการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมยาสูบ
- ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาแนวทางการพัฒนาศูนย์ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมยาสูบในร้านยา
คำสำคัญ
NCD, Non Communicable Disease, โรคไม่ติดต่อ