การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมขับเคลื่อนและบูรณาการภารกิจ ด้านพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการบริหารจัดการเวชภัณฑ์มิใช่ยาอย่างมีมาตรฐาน (Drug & DIN) เขตสุขภาพที่ 1
ชื่อการประชุม โครงการประชุมขับเคลื่อนและบูรณาการภารกิจ ด้านพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการบริหารจัดการเวชภัณฑ์มิใช่ยาอย่างมีมาตรฐาน (Drug & DIN) เขตสุขภาพที่ 1
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-038-09-2561
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงพยาบาลลำพูน จังหวัดลำพูน
วันที่จัดการประชุม 03 -04 ก.ย. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรในเขตสุขภาพที่ 1 ได้แก่ คณะกรรมการ D&DIN เขตสุขภาพที่ 1, คณะกรรมการ RDU เขตสุขภาพที่ 1, คณะกรรมการ RDU ของแต่ละจังหวัด, แพทย์/ทันตแพทย์ สสจ. รพ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 8.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการการใช้ยาสมเหตุผลและการจัดการเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนและผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ลดอัตราการป่วยและการตายจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ลดค่าใช้จ่ายด้านยาและลดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ โดยจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการการใช้ยาสมเหตุผล ในโรงพยาบาลทุกระดับ ของกระทรวงสาธารณสุข (RDU 1) แผนพัฒนาระบบบริการการใช้ยาสมเหตุผลใน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (RDU 2) และแผนการจัดการเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล (AMR) โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการ ปีงบประมาณ 2560 - 2564 ดังนี้ ปีงบประมาณ 2560 RDU : รพ. RDU ขั้นที่ 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ รพ.ทั้งหมด AMR: รพ. ระดับ A, S และ M1 มีแผนปฏิบัติการการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาล และมีข้อมูล (Baseline data) ของอัตราการติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด ,ปีงบประมาณ 2561 RDU : รพ. RDU ขั้นที่ 1 ทุกแห่ง และขั้นที่ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของ รพ.ทั้งหมด AMR: ข้อมูลของอัตราการติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด ลดลงร้อยละ 10 จาก Baseline data, ปีงบประมาณ 2562 RDU: รพ. RDU ขั้นที่ 1 ทุกแห่ง และขั้นที่ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ รพ.ทั้งหมด AMR: ข้อมูลของอัตราการติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด ลดลงร้อยละ 20 จาก Baseline data, ปีงบประมาณ 2563 RDU: รพ. RDU ขั้นที่ 2 ทุกแห่ง และขั้นที่ 3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของ รพ.ทั้งหมด AMR: ข้อมูลของอัตราการติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด ลดลงร้อยละ 30 จาก Baseline data และปีงบประมาณ 2564 RDU: รพ. RDU ขั้นที่ 2 ทุกแห่ง และขั้นที่ 3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ รพ.ทั้งหมด AMR: ข้อมูลของอัตราการติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด ลดลงร้อยละ 50 จาก Baseline data
ในปัจจุบันพบว่าสถานการณ์ปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสมและปัญหาเชื้อดื้อยา ในประเทศไทย และในเขตสุขภาพที่ 1 ยังเป็นประเด็นน่าห่วงทั้งในสถานพยาบาลและในชุมชน โดยพบว่าการใช้ยากลุ่มเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพในชุมชนมีความรุนแรงมากขึ้น จากรายงานการศึกษาขนาดและผลกระทบทางการคลังของการครอบครองยาเกินจำเป็นและการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2555 พบว่าประเทศไทยสูญเสียทางการคลังจากประชาชนหรือผู้ป่วยครอบครองยาเกินจำเป็น เป็นมูลค่า ปีละ 2,350 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 1.75 ของมูลค่าการบริโภคยาภายในประเทศ และจากผลสำรวจของโครงการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาประเทศไทย ปี 2558 ซึ่งดำเนินการในพื้นที่จังหวัดลำพูนและชลบุรี พบว่ามีการจำหน่าย ยาปฏิชีวนะในร้านชำอย่างแพร่หลาย เช่น ยา Tetracycline/Amoxicillin/Ampicillin และ Norfloxacin นอกจากนี้ยังพบเชื้อ E.coli ดื้อยา ในตัวอย่างเนื้อหมูสดและสุกดิบสูงถึงร้อยละ 93.8 เนื้อไก่สดหรือสุกดิบร้อยละ 38.5 แหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชนร้อยละ 35.4 ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจจะมีความสัมพันธ์กับการพบเชื้อ E. coli ดื้อยาในลำไส้คนสูงถึงร้อยละ 66.5 และคาดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งของปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทย ส่วนสถานการณ์การใช้ยาไม่สมเหตุผลในโรงพยาบาล โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะ ใน 4 โรค (URI, AD, FTW, APL) ในผู้ป่วยนอก ยังเป็นปัญหาสำคัญทั้งใน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน สำหรับปัญหาการติดเชื้อดื้อยายังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการติดเชื้อดื้อยาที่เป็นสาเหตุให้เข้านอนรับการรักษาตัว หรือ ติดเชื้อขณะนอนรักษาในโรงพยาบาล ประมาณการณ์เบื้องต้นคาดว่าในประเทศไทยมีการติดเชื้อดื้อยาประมาณ ปีละ 87,751 ครั้ง ผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 ราย หรือร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็นเงิน 2,539 - 6,084 ล้านบาท สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท จากการรายงานขององค์การอนามัยโลก ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณ ปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 35 ปีข้างหน้าปี หรือใน ค.ศ. 2050 คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน และคิดเป็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินจำเป็นไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา แต่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการแพ้ยาที่รุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย
ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการจัดการเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญดังกล่าวข้างต้น มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยองค์ความรู้จากผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ตลอดจนการระดมสมองของผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ ผลกระทบ ประเด็นปัญหาที่สำคัญ และสาเหตุ เพื่อร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาในภาพรวมของเขตสุขภาพและกลยุทธ์เฉพาะ ตามบริบทของพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 1 จึงจัดโครงการประชุมขับเคลื่อนและบูรณาการภารกิจ ด้านพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการบริหารจัดการเวชภัณฑ์มิใช่ยาอย่างมีมาตรฐาน (Drug & DIN) เขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการ D&DIN คณะกรรมการ RDU ระดับเขตและระดับจังหวัด แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนักวิชาการสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น เขตสุขภาพที่ 1 จึงมอบหมายให้ โรงพยาบาลลำพูนและคณะทำงานขับเคลื่อนและบูรณาการภารกิจ ด้านพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการบริหารจัดการเวชภัณฑ์มิใช่ยาอย่างมีมาตรฐาน (Drug & DIN) รับผิดชอบจัดให้มีโครงการประชุมขับเคลื่อนและบูรณาการภารกิจ ด้านพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการบริหารจัดการเวชภัณฑ์มิใช่ยาอย่างมีมาตรฐาน (Drug & DIN) เขตสุขภาพที่ 1 วันที่ 3 - 4 กันยายน 2561 เวลา 08.30 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมศรีหริภุญไชย ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลลำพูน
วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อให้ผู้เข้ารับการประชุมรับทราบและตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล และสถานการณ์เชื้อดื้อยา ในประเทศไทยและเขตสุขภาพที่ 1
2.2 เพื่อให้ผู้เข้ารับการประชุมมีความรู้และความเข้าใจในการใช้ยาสมเหตุผลและการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
2.3 เพื่อแลกเปลี่ยนและกำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการใช้ยาสมเหตุผลและการจัดการเชื้อดื้อยา ของเขตสุขภาพที่ 1
คำสำคัญ
Drug & DIN