การประชุมวิชาการ
การฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎีเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวสำหรับพยาบาลวิชาชีพ
ชื่อการประชุม การฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎีเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวสำหรับพยาบาลวิชาชีพ
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-042-08-2561
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่จัดการประชุม 20 -24 ส.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย พยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จากโรคพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด /บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคหัวใจและหลอดเลือดนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความรุนแรงในอันดับต้นๆ ของประเทศ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก และการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มากขึ้น โรคที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของโรคหัวใจหลายประเภท ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลวก็จะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร็วที่สูงมาก รายงานจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรคพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกด้วย จากงานวิจัย Thai Acute Decompensated Heart Failure Registry (Thai ADHERE Study) พบว่า การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวยังต้องการการพัฒนา โดยเฉพาะในส่วนของการใช้ยาได้ตามมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสม
เนื่องจากผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นโรคที่ซับซ้อน การดูแลตัวเองที่ดีของผู้ป่วยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยลดการกำเริบของอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ พยาบาลเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด และมีบทบาทสำคัญในการร่วมดูแลผู้ที่มีภาวะหัวใจวายทั้งในระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการรักษาในระยะยาว โดยบทบาทที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ที่มีภาวะหัวใจวาย ผ่านการให้ความรู้ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองทั่วไปและการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม การรับรู้และการจัดการอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น การรับประทานยาตามแผนการรักษาและการติดตามแผนการรักษาอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารและน้ำที่เหมาะสม การรักษาสมดุลของการทำกิจกรรมและการพักผ่อน การดูแลตนเองด้านจิตสังคม และรวมถึงการเป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างบุคลากรทีมสุขภาพกับผู้ที่มีภาวะหัวใจวาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำ และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวแบบสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team) ผ่านการจัดตั้งคลินิกหัวใจล้มเหลว (heart failure clinic) ได้รับการพิสูจน์ในงานวิจัยจำนวนมากว่า เป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มคุณภาพการรักษาให้ได้ตามมาตรฐาน เพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย ช่วยลดอัตราการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและลดอัตราการเสียชีวิต สำหรับประเทศไทยโรงพยาบาลหลายแห่งเช่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลระยอง สถาบันโรคทรวงอก และโรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทยศาสตร์หลายแห่ง ได้ดำเนินการจัดตั้งคลินิกหัวใจล้มเหลวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยผลงานวิจัยจากคลินิกเหล่านี้บางแห่ง แสดงให้เห็นว่า การดูแลผู้ป่วยในรูปแบบนี้ให้ผลเพิ่มคุณภาพการบริการและส่งผลดีต่อผู้ป่วยอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เกิดการขยายตัวของคลินิกหัวใจล้มเหลวตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 2560 – 2565 ของกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องอบรมพยาบาลเพื่อเสริมความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว เพื่อให้พยาบาลเหล่านี้สามารถกลับไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งของคลินิกหัวใจล้มเหลวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามแผนดังกล่าว
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎีเชิงปฏิบัติการขึ้นเพื่อตอบรับกับความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการสร้างคลินิกหัวใจล้มเหลว โดยการอบรมพยาบาลเสริมทักษะการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว เพื่อให้พยาบาลเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกับแพทย์ เภสัชกรและบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ในการจัดตั้งและดำเนินการคลินิกหัวใจล้มเหลวเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยไทยต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว และรองรับแผนการพัฒนาการจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจ
2. เพื่อให้พยาบาลที่ผ่านการอบรมสามารถทำงานร่วมกันกับแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งคลินิกโรคหัวใจล้มเหลวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว มีอัตราการเข้าโรงพยาบาลที่ลดลงและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งจะช่วยค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ค่าลงทะเบียน - สมัครและโอนเงินค่าลงทะเบียน 7,500 บาท (รวมค่าเอกสาร อาหารกลางวัน และอาหารว่าง) - กรุณาสมัคร และโอนเงินภายในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561 การสมัครและชำระเงินค่าลงทะเบียน สมัครพร้อมชำระเงินโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 026-465768-1 ชื่อบัญชี ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวสำหรับพยาบาล โปรดกรอกใบสมัคร online ทาง www.pharmacy.mahidol.ac.th/conference พร้อม scan หรือ fax ใบโอนเงินชำระค่าลงทะเบียน (ใบ pay in) ทางโทรสารหมายเลข 0-2644-4536 (ในวันประชุมโปรดนำใบนำฝากธนาคารตัวจริงมาด้วยเพื่อตรวจสอบ) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ - หน่วยจัดกิจกรรมวิชาการ : คุณราตรี ปั้นพินิจ โทรศัพท์/โทรสาร 02-644-4536 Email: ratree.pap@mahidol.ac.th - ภาควิชาเภสัชกรรม : คุณพิณพิศ แสงเภา หรือ คุณพูนทรัพย์ มี้เจริญ โทรศัพท์/โทรสาร 02-644-8694 Email: mupyserviceplan2018@gmail.com - กลุ่มงานพัฒนาระบบบริการ กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข : คุณบารเมษฐ์ ผมคำ โทรศัพท์ 02-590-1648 โทรสาร 02-5901631 Email : anuwat_asut@hotmail.co.th