การประชุมวิชาการ
การประชุมวิจัยนานาชาติ เรื่อง “Plant-based vaccines; an urgent need for Rabies”
ชื่อการประชุม การประชุมวิจัยนานาชาติ เรื่อง “Plant-based vaccines; an urgent need for Rabies”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-024-05-2561
สถานที่จัดการประชุม โรงแรม คราวน์ พลาซ่า ลุมพินี กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 17 พ.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย คณาจารย์ / นักวิจัย จำนวน 50 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 1.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเรบีส์ (rabies virus) ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คน ในปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพหากผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยปกติแล้วการติดเชื้อเกิดขึ้นได้หลังจากที่ผู้ป่วยถูกกัดโดยสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะสุนัขในบ้าน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆก็สามารถเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ป่าและค้างคาวป่าก็เป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน การป้องกันการติดเชื้อโดยการให้ยา (post-exposure prophylaxis, PEP) จะมีประสิทธิภาพสูง เมื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การให้ยารักษาหลังจากที่ผู้ป่วยถูกกัดโดยสัตว์ที่มีเชื้อไวรัส คือการให้ Rabies Immunoglobulin (RIG) ซึ่งผลิตได้จากเลือดของคนหรือม้า รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย
มีการรายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโรคมีประมาณ 55,000-70,000 รายต่อปี โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศในแถบอัฟริกา อินเดีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ปัญหาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี คือ ผู้ป่วยยังคงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโดย RIG อย่างเพียงพอในประเทศเหล่านี้ เนื่องจากยังคงมีขีดจำกัดในด้านของปริมาณการผลิตทั้งแอนติบอดีที่ผลิตได้จากคนและม้า และความต้องการการใช้ RIG ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ RIG ยังคงมีข้อควรคำนึงอีกหลายด้าน เช่น ปริมาณของแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งการติดเชื้อในแต่ละรอบการผลิตไม่เท่ากัน การปนเปื้อนของเชื้อโรคที่ติดมาจากเลือด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ RIG ที่ผลิตจากม้า ยังคงพบอาการแพ้ที่ไม่พึงประสงค์เป็นครั้งคราว เช่น เกิดการแพ้ซีรุ่มจากสิ่งมีชีวิตคนละสปีชี่ส์ หรือ เกิดอาการ anaphylactic shock เป็นต้น
จากเหตุผลเหล่านี้ จึงมีการผลักดันจากองค์การอนามัยโลกให้มีการพัฒนาการทดแทนการใช้ RIG ด้วยการใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า มีราคาต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถผลิตได้ในปริมาณมากที่จะเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากความร่วมมือของ WHO Collaborating Centres for Rabies Surveillance and Research โมโนโคลนอลแอนติบอดีหลายชนิดที่สามารถยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสพิษสุนัขบ้าถูกค้นพบขึ้น โมโนโคลนอลแอนติบอดีเหล่านี้เป็นเป้าหมายของการพัฒนาในอนาคตเพื่อที่จะนำมาใช้แทนที่โพลีโคลนอลแอนติบอดี ผลการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงอย่างชัดเจนว่า การใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีหลายชนิดร่วมกันมีข้อดีมากกว่าการใช้ RIG โดยแสดงผลของความปลอดภัยที่ดีขึ้น มีปริมาณแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพที่สม่ำเสมอในแต่ละรอบการผลิต และความ tolerance ในผู้ป่วยดีขึ้น
ในส่วนของการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืชนั้น มีการศึกษาการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีสำหรับใช้รักษาโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งโมโนโคลนอลแอนติบอดีแต่ละชนิดสามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าได้ ดังนั้น โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ผลิตจากพืชเหล่านี้ จึงเป็นเป้าหมายในการนำมาพัฒนาใช้เป็นค็อกเทลโมโนโคลนอลแอนติบอดีเพื่อการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในอนาคต เนื่องจากการใช้พืชเป็นแหล่งผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีมีข้อดีหลายอย่าง เช่น สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ใช้ระยะเวลาในการผลิตเร็ว มีความปลอดภัยในการใช้ แอนติบอดีที่ได้ปราศจากเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคในคนและสัตว์ เป็นต้น
ในโครงการนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญทางการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืช และผู้เชี่ยวชาญทางระบบนำส่งแอนติบอดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแอนติบอดีในการเข้าถึงเซลล์เป้าหมายมาเป็นวิทยากรในการบรรยายและการสร้างความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์ในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระหว่างคณาจารย์และนักวิจัย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในการพัฒนาโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืช และระบบการนำส่งแอนติบอดี เพื่อใช้ในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า
- เพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัย และพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืชเพื่อรักษาโรคพิษสุนัขบ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีการนำส่งโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืช เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงเซลล์เป้าหมาย ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืชเพื่อรักษาโรคพิษสุนัขบ้าของนักวิจัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัคซีนในประเทศ
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 02-218-8454 หรือ e-mail: ce@pharm.chula.ac.th