การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง Diet management for NCDs: Cardiovascular disease and diabetes
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิชาการ เรื่อง Diet management for NCDs: Cardiovascular disease and diabetes
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-017-05-2561
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
วันที่จัดการประชุม 13 พ.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรชุมชนและเภสัชกรโรงพยาบาล และผู้สนใจ จำนวน 150 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันมีกระแสของการสร้างเสริมสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพของตนเองกันมาก ในการแสวงหาทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ จึงมีกระแสของการแพทย์ทางเลือก (complementary and alternative medicine; CAM) ซึ่งเป็นการแพทย์ที่นอกเหนือจากการแพทย์แผนตะวันตก ได้แก่ การนวด โยคะ สมาธิ การผ่อนคลาย การฝังเข็ม การจัดกระดูก และการใช้สารเคมีจากธรรมชาติ เช่น วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น หนึ่งในทางเลือกของการดูแลสุขภาพที่สำคัญและเป็นที่นิยมแพร่หลายได้แก่ การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร เพื่อส่งเสริมสุขภาพและคาดหวังผลในการป้องกันโรค ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดมีหลากหลาย และแหล่งจำหน่ายที่สำคัญคือร้านขายยา ดังนั้นการดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการควบคู่ไปกับการใช้ยาจึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งของเภสัชกร โดยการให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคในเรื่องของอาหารและโภชนาการ การแนะนำให้รับประทานอาหารครบห้าหมู่ หลากหลาย และมีการกระจายพลังงานในสัดส่านที่เหมาะสม ยังคงจำเป็นในทุกกรณี แต่ผู้บริโภคหรือผู้ป่วยบางกลุ่ม อาหารกลุ่มที่จะเข้ามามีบทบาทและเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปัจจุบันมีอยู่มากมายในท้องตลาด จึงควรมีการควบคุมคุณภาพในการผลิตและมีข้อมูลงานวิจัยอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามเนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ใช่ยา สามารถหาซื้อได้ง่าย และการใช้ในปริมาณที่กำหนดตามฉลากอาจไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไป จึงทำให้ประชาชนในยุคปัจจุบันนิยมซื้อมาใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากศึกษาประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดต่อการลดอัตราการเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ โรคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญคือโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน ซึ่งจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารและวิถีดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เภสัชกรจึงควรติดตามข้อมูลความก้าวหน้าด้านอาหารและโภชนาการ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรศึกษาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคทั้งประโยชน์ โทษ หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่ต่างจากการใช้ยาคือประสิทธิผลและความปลอดภัย สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องอันตรกิริยากับยาที่กำลังใช้อยู่หรืออาจส่งผลต่อโรคอื่นๆที่เป็นอยู่ได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งมีการใช้ยารักษาหลายขนาน จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เภสัชกรเป็นผู้ที่มีบทบาทในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพร เพื่อประสิทธิผลและความปลอดภัยในผู้ป่วย
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับ complementary medicines สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (www.pharm.chula.ac.th/ce) หรือโทรศัพท์ 02-218-8454 หรือ e-mail: ce@pharm.chula.ac.th โดยมีอัตราค่าลงทะเบียน ดังนี้ * อัตราค่าลงทะเบียน 1,300 บาท ลงทะเบียนและชำระเงินภายในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561 * อัตราค่าลงทะเบียน 1,500 บาท ชำระเงินหลังจากวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561