การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชจุลชีววิทยา ครั้งที่ 4 เรื่อง Microbiological Testing of Nonsterile Products: Step-by-Step Practical Approach to Quality Control
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชจุลชีววิทยา ครั้งที่ 4 เรื่อง Microbiological Testing of Nonsterile Products: Step-by-Step Practical Approach to Quality Control
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-028-05-2561
สถานที่จัดการประชุม บรรยาย ณ ห้องประชุม 206 อาคารราชรัตน์ ชั้น 2 ปฏิบัติการ ณ ห้องปฏิบัติการภาควิชาจุลชีววิทยา 108/1-3 อาคารเทพรัตน์ ชั้น 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 16 -18 พ.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านจุลชีววิทยา นักวิจัย นักวิชาการและผู้สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 15.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
เภสัชภัณฑ์มีความสำคัญทั้งในการรักษา การป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงการเสริมสุขภาพ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค จึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานของเภสัชภัณฑ์ขึ้นเพื่อควบคุณภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเภสัชภัณฑ์ไม่ปราศจากเชื้อ เช่น ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ยาจากสมุนไพร ซึ่งไม่จำเป็นต้องปลอดจากจุลินทรีย์ อาจพบการปนเปื้อนอยู่ได้บ้าง แต่ปริมาณจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนนั้นต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด และต้องปราศจากจากจุลินทรีย์ก่อโรคบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้การปนเปื้อนจุลินทรีย์ อาจทำให้เภสัชภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติทางกายภาพเสียไป เช่น สี กลิ่น รส หรือเกิดการสูญเสียคุณสมบัติทางเคมีของสารในเภสัชภัณฑ์ อาจส่งผลต่อฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเภสัชภัณฑ์นั้นเสื่อมลงได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการควบคุมคุณภาพด้านจุลชีววิทยาของผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด โดยมีข้อกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในเภสัชภัณฑ์ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ เช่น US Pharmacopeia, Thai Pharmacopoeia และ Thai Herbal Pharmacopoeia และประกาศสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพทั้งในกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และเพื่อการพิจารณาขึ้นทะเบียนเภสัชภัณฑ์ ด้วยเหตุนี้วิธีการทดสอบทางจุลชีววิทยาของเภสัชภัณฑ์ไม่ปราศจากเชื้อจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องเป็นวิธีที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ และทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน
โดยทั่วไปการทดสอบทางจุลชีววิทยาในเภสัชภัณฑ์ไม่ปราศจากเชื้อ ได้แก่ การทดสอบหาจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมดในเภสัชภัณฑ์ (Microbial enumeration tests) และการทดสอบหาจุลินทรีย์ชนิดจำเพาะ (Tests for specified microorganisms) รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของสารกันเสียในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ (Antimicrobial effectiveness testing) ที่อยู่ในเภสัชภัณฑ์ไม่ปราศจากเชื้อ วิธีทดสอบเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญในการควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์ ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดในวิธีทดสอบที่เป็นมาตรฐานในตำรายาทุกประการ อีกทั้งต้องได้รับการพิสูจน์ยืนยันถึงความเหมาะสมของวิธีทดสอบ (Suitability of test method) ความถูกต้องของวิธีทดสอบ (Method verification) หรือความใช้ได้ของวิธีทดสอบ (Method validation) รวมถึงการประเมินความไม่แน่นอนในการวัด (Uncertainty measurement) ของวิธีทดสอบ ที่มีความสำคัญในการแปลผลและสรุปผลการทดสอบทางจุลชีววิทยา นอกจากนี้การเรียนรู้ระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ฉบับใหม่ 2017 เพื่อขอการรับรองรายการทดสอบทางจุลชีววิทยาดังกล่าว จะช่วยให้ห้องปฏิบัติการนั้นได้รับความน่าเชื่อถือ มั่นใจได้ว่าผลการทดสอบนั้นมีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นไปตามหลักวิชาการ ช่วยพัฒนาระบบการทดสอบในห้องปฏิบัติการนั้นให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานระดับสากล อีกทั้งยังเป็นการเปิดประตูสู่ตลาดโลก
ด้วยเหตุนี้ ภาควิชาจุลชีววิทยาจึงตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์มาตรฐาน ข้อกำหนด วิธีทดสอบทางจุลชีววิทยาและการทดสอบประสิทธิภาพของสารกันเสียในการยับยั้งจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปราศจากเชื้อ และให้มีมาตรฐานของวิธีทดสอบที่ได้รับการรับรองด้วยระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025:2017 ภาควิชาฯ จึงจัดงานประชุมวิชาการเภสัชจุลชีววิทยา ครั้งที่ 4 เรื่อง
Microbiological testing of non-sterile products : Step-by-step practical approach to quality control ขึ้น ในระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2561 ทั้งในรูปแบบบรรยาย ณ ห้อง 206 ชั้น 2 อาคารราชรัตน์ และปฏิบัติการ ณ ห้องปฏิบัติการภาควิชาจุลชีววิทยา 108/1-3 อาคารเทพรัตน์ ชั้น 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการและการปฏิบัติให้แก่ เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านจุลชีววิทยา นักวิจัย นักวิชาการ ที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมคุณภาพหรือปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทดสอบด้านจุลชีววิทยา ในสถานที่ผลิตยาหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนที่มีความสนใจและติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานี้ เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพด้านจุลชีววิทยาของเภสัชภัณฑ์ไม่ปราศจากเชื้ออย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาบุคลากร ผ่ายควบคุมคุณภาพ หรือห้องปฏิบัติการทดสอบด้านจุลชีววิทยา ในสถานที่ผลิตยาหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักเกณฑ์ ข้อกำหนด และวิธีการทดสอบที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพของเภสัชภัณฑ์ปราศจากเชื้อ มีมาตรฐานและประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
คำสำคัญ
microbiological testing, nonsterile products, quality control
วิธีสมัครการประชุม
ค่าลงทะเบียน บรรยาย 2 วัน ท่านละ 4,000.- บาท บรรยายและปฏิบัติการ 3 วัน ท่านละ 6,500.- บาท รับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 วิธีการสมัครและลงทะเบียน สมัครผ่านเว็บไซต์ www.pharmacy.mahidol.ac.th/conference พร้อมชำระเงินโดยโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-443603-5 ชื่อบัญชี “การประชุมวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” พร้อม scan หรือ fax ใบโอนเงินชำระค่าลงทะเบียน (ใบ pay in) หรือ สลิป ATM มาที่หน่วยจัดกิจกรรมวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทางโทรสาร หมายเลข 02-644-4536 (ในวันประชุมโปรดนำใบฝากธนาคารตัวจริงมาด้วยเพื่อตรวจสอบ) ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วและมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนจากต้นสังกัดได้ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0409.6/ว 95 ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และระเบียบของแต่ละหน่วยงาน