การประชุมวิชาการ
การประชุมโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ เครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 (The 1st SEAPHARM – IRN meeting in Bangkok)
ชื่อการประชุม การประชุมโครงการพัฒนาเครือข่ายวิจัยนานาชาติ เครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 (The 1st SEAPHARM – IRN meeting in Bangkok)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-015-02-2561
สถานที่จัดการประชุม ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
วันที่จัดการประชุม 22 -23 ก.พ. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์ เภสัชกร นักวิจัย นักเทคนิคการแพทย์ นักชีวสารสนเทศ และนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวิเคราะห์ทางเภสัชพันธุศาสตร์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 7.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
เภสัชพันธุศาสตร์เป็นการศึกษาถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมทั้งหมดที่ส่งผลต่อการใช้ยา เช่น ยาชนิดหนึ่งสามารถใช้ได้ดีกับคนส่วนใหญ่ แต่บางคนกลับใช้ไม่ได้ผล หรือบางคนใช้แล้วเกิดผลข้างเคียงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต การศึกษาระดับจีโนมจะช่วยให้ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์สำหรับการรักษา ช่วยให้แพทย์สามารถเลือกให้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีผลข้างเคียงหรือพิษของยาต่ำสุดแก่คนไข้เฉพาะราย ตัวอย่างเช่น จากการตรวจยีน HLA-B*5701 ก่อนการให้ยาต้านไวรัส abacavir มีรายงานว่าสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่แพ้ยาต้านไวรัสดังกล่าวได้ รวมทั้งลดจำนวนผู้ป่วยที่หยุดยาเองเนื่องจากผลข้างเคียงของยาได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างเชื้อชาติอาจส่งผลต่อการตอบสนองต่อยาที่ต่างกันทำให้การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ต่อยีนบางชนิดมีความจำเป็นเฉพาะกลุ่มประชากรเท่านั้น ดังเช่น องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ประชากรในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรตรวจ HLA-B*1502 ก่อนเริ่มใช้ยาต้านการชัก carbamazepine ในขณะที่ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจยีนดังกล่าวในประชากรผิวขาวหรือชาวญี่ปุ่น
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสถาบันจีโนมทางการแพทย์ริเก้น จึงได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการถอดรหัสพันธุกรรม 100 ยีนทางเภสัชพันธุศาสตร์ด้วยเครื่องถอดรหัสพันธุกรรมเนกซ์เจเนเรชันในประชากรภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 1,000 คน เพื่อศึกษาความแตกต่างทางด้านพันธุศาสตร์ของยีนที่สัมพันธ์กับประสิทธิภาพของยา และอาการไม่พึงประสงค์ผ่านกระบวนการเภสัช-จลศาสตร์ในประชากรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัตถุประสงค์
1. ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เห็นภาพรวมของโครงการถอดรหัสพันธุกรรม 100 ยีนทางเภสัชพันธุศาสตร์ด้วยเครื่องถอดรหัสพันธุกรรมเนกซ์เจเนเรชันในประชากรภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. ส่งเสริมนักวิจัยในประเทศมีเวทีแสดงผลงานการวิจัยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์
3. สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูลในการดำเนินงานวิจัยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์
4. นำความรู้และข้อมูลที่ได้จากการฝึกอบรมไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องและเหมาะสม
คำสำคัญ
โครงการถอดรหัสพันธุกรรม, เภสัชพันธุศาสตร์
วิธีสมัครการประชุม
ไม่มีค่าลงทะเบียน ดำเนินการรับสมัครโดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล