การประชุมวิชาการ
การประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชศาสตร์ประจำปี 2561 (ครั้งที่ 34) และ โครงการสัมมนาวิชาการ CU FPhS-RIKEN CDB Symposium ครั้งที่ 2: “ความก้าวหน้าด้านชีววิทยาระดับเซลล์และโมเลกุล”
ชื่อการประชุม การประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชศาสตร์ประจำปี 2561 (ครั้งที่ 34) และ โครงการสัมมนาวิชาการ CU FPhS-RIKEN CDB Symposium ครั้งที่ 2: “ความก้าวหน้าด้านชีววิทยาระดับเซลล์และโมเลกุล”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-006-03-2561
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 08 -09 มี.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัย และบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 7 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
งานวิจัยทางด้านชีววิทยาพัฒนาการ เป็นสาขางานวิจัยที่มีความสำคัญ ช่วยให้เข้าใจถึงการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต การพัฒนาการตั้งแต่ปฏิสนธิ stem cells จนมีการพัฒนาเกิดอวัยวะ ระบบต่างๆ และร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และ เวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม (Regenerative medicine) ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคความเสื่อมของร่างกายได้ในอนาคต
ศูนย์ชีววิทยาพัฒนาการ สถาบันวิจัย RIKEN (RIKEN Center for Developmental Biology; RIKEN CDB) เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เป็น ศูนย์วิจัยเฉพาะทางในสังกัดสถาบันวิจัย RIKEN ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น โดยศูนย์ชีววิทยาพัฒนาการ (RIKEN CDB) เป็นศูนย์วิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติทางด้านชีววิทยาพัฒนาการ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของระบบต่างๆ ของร่างกายในกระบวนการพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยมีนักชีววิทยาพัฒนาการที่มีชื่อเสียงระดับสากลอยู่เป็นจำนวนมาก ผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารงานวิจัยที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยกับ RIKEN CDB อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยมีโครงการวิจัยร่วมและการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนิสิตอย่างต่อเนื่อง ได้จัดการประชุมร่วม 1st CU-CDB Symposium ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งได้ทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย (MOU) ขึ้นในปีเดียวกัน
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการประชุมเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ในสาขาเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง และเป็นงานประชุมที่จัดโดยคณะเภสัชศาสตร์ยาวนานที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทั่วประเทศ มีการส่งผลงานทางเภสัชศาสตร์ทุกสาขาเพื่อเผยแพร่เป็นจำนวนมากในแต่ละปี สืบเนื่องมาโดยตลอดทุกปี งานประชุมวิจัยประจำปีของคณะเป็นเวทีวิชาการที่เปิดโอกาสให้กับ คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษา ทั้งจากคณะเภสัชศาสตร์และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่สนใจทุกท่านจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสรับทราบ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์วิจัย รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคต โดยในปีนี้เป็นการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยต่างประเทศแล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนและเสริมความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือของนักวิจัยไทยและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในต่างประเทศอีกด้วย
ในการนี้เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ RIKEN CDB มีความเข้มแข็งและขยายวงกว้างขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีผู้เชี่ยวชาญและศึกษาวิจัยทางด้านนี้อยู่ ดังนั้นคณะเภสัชศาสตร์ และ RIKEN CDB จึงได้ตกลงที่จะจัดการประชุมวิชาการร่วม CU FPhS-RIKEN CDB Symposium ขึ้นเป็นครั้งที่2 และการประชุมวิจัยประจำปีของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ 34th International Annual Meeting in Pharmaceutical Sciences ซึ่งมีอาจารย์ นักวิจัย นิสิตบัณฑิตศึกษา เข้าร่วมจากคณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนคณะวิชาอื่นๆ ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับนักวิจัยระดับนานาชาติจาก RIKEN CDB ประเทศญี่ปุ่น โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานได้กำหนดหัวข้อการประชุมเป็น “Advance in Cellular and Molecular Biology” ซึ่งจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยการประชุมจะประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและการนำเสนอผลงานวิจัยรับเชิญโดยนักวิจัยไทยและต่างประเทศรวม 20 ท่าน และการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ (poster presentations) ทั้งของผู้เสนอจากฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยครอบคลุมเนื้อหาดังนี้
1) Pharmaceutical Chemistry and Natural Products
2) Pharmacology and Pharmaceutical Biotechnology
3) Pharmaceutical Technology and Cosmetic Sciences
4) Clinical and Social/Administrative Pharmacy

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยในวงที่กว้างขึ้น ผลงานที่ได้รับการตอบรับให้นำเสนอในงานประชุมวิชาการนี้ จะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือรวบรวมบทความวิจัย (proceedings) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวารสารไทยเภสัชสารฉบับเพิ่มเติม (supplement issue) โดยที่ต้นฉบับจะเป็นบทคัดย่อ (abstract) หรือบทคัดย่อร่วมกับบทความฉบับสมบูรณ์ (full paper) ความยาว 4 หน้ากระดาษ A4 ตามรูปแบบที่กำหนด โดยผลงานทุกเรื่องจะมีคณะกรรมการพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมของผลงาน (peer review) ก่อนการตีพิมพ์ นอกจานี้ในการประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีการมอบรางวัล Nagai Award Thailand 2018 (ครั้งที่ 20) ให้แก่ผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่นระดับนานาชาติ ในวารสารที่ยอมรับในวงการวิชาการ โดย Professor Tsuniji Nagai ประธาน Nagai Foundation เป็นผู้ให้การสนับสนุนรางวัลนี้มาโดยตลอด ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติและทรงคุณค่าทางการวิจัย และจัดเป็นรางวัลที่ทุกคนรู้จักมากที่สุดรางวัลหนึ่งในสาขาเภสัชศาสตร์ โดย Professor Nagai จะเป็นผู้มอบรางวัลนี้ให้แก่นักวิจัยชาวไทยด้วยตนเอง รวมจำนวน 3 รางวัล รางวัลละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนี้
1) รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่นสาขา Pharmacy Practice/Social and Administrative Pharmacy รวมจำนวน 1 รางวัล
2) รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่นสาขา Pharmaceutical Sciences รวมจำนวน 2 รางวัล
วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น และจากประเทศต่างๆ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการและวิจัย
2.2 เพื่อเปิดโอกาสให้เภสัชกรทุกสาขา คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยในระดับสากล เพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นผู้นำทางวิชาการของประเทศไทยในระดับภูมิภาค
2.3 เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยฝ่ายไทยได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับนักวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย ในระหว่างบุคคลต่อบุคคลต่อไปในอนาคต
2.4 เพื่อสรุปความก้าวหน้าของความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์และสถาบันวิจัย RIKEN CDB ที่ได้ดำเนินมาและร่วมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาความร่วมมืออย่างสืบเนื่องสำหรับอนาคต
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
สมัครเข้าร่วมงานประชุมทางออนไลน์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณจิดาภา สุนทรัช หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง โทรศัพท์: 0-2218-8454; E-mail: ce@pharm.chula.ac.th