การประชุมวิชาการ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การผลิตชีวเภสัชภัณฑ์จากพืช (Plant-produced Biopharmaceuticals)
ชื่อการประชุม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การผลิตชีวเภสัชภัณฑ์จากพืช (Plant-produced Biopharmaceuticals)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-053-11-2560
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 13 -14 พ.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยต่างๆ รวมทั้งบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 8.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
รีคอมบิแนนท์โปรตีนเพื่อการรักษาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญมาก และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดของชีวเภสัขภัณฑ์ โปรตีนที่ใช้ในการรักษาตัวแรกได้รับการยอมรับโดย FDA มานานกว่าสองศตวรรษ นับตั้งแต่นั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้โปรตีนที่ผลิตในธรรมชาติมาเป็นการออกแบบโมเลกุลเพื่อทำหน้าที่ใหนการรักษา การผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนจะเป็นไปตามหลัการทางเศรษฐกิจและคุณภาพ ดังนั้น วิธีการผลิตจะต้องถูกพัฒนาโดยการใช้ระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและมีราคาการผลิตต่ำ นอกจากนั้น ความปลอดภัยยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์เพื่อการนำไปใช้ในมนุษย์
การผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนในปัจจุบันนั้น สามารถผลิตได้โดยใช้ระบบต่างๆ เช่น เซลล์เพาะเลี้ยงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แบคทีเรีย ยีสต์ และ พืช เป็นต้น โดยที่ ร้อยละ 39 ของรีคอมบิแนนท์โปรตีนผลิตในแบคทีเรีย E. coli ร้อยละ 35 ผลิตใน CHO cell ซึ่งเป็นเซลล์เพาะเลี้ยงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแบบหนึ่ง ร้อยละ15 ผลิตโดยใช้ยีสต์ และ ร้อยละ 10 ผลิตโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ จะเห็นได้ว่า การผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนในแบคทีเรียนั้น มีการนำไปใช้มากที่สุด เนื่องจากผลิตได้สะดวกรวดเร็ว และราคาการผลิตค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม รีคอมบิแนนท์โปรตีนที่ผลิตได้จากแบคทีเรียนี้จะไม่เหมือนกับรีคอมบิแนนท์โปรตีนที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตชั้นสูงขึ้น เช่น ยีสต์ และ เซลล์เพาะเลี้ยงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เนื่องจากแบคทีเรียไม่มีความสามารถในการแต่งเติมโปรตีนให้สมบูรณ์ เช่น การเติมหมู่น้ำตาล (glycan) บนโปรตีน เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีกระบวนการ post-translation modification ซึ่งในส่วนของโปรตีนหลายๆชนิด เช่น แอนติบอดี หรือ ไกลโคโปรตีนอื่นๆ หมู่น้ำตาลที่อยู่บนโปรตีนนั้นมีผลอย่างมากต่อการทำงานของโปรตีนเหล่านี้ ดังนั้นโปรตีนหลายชนิดที่ผลิตจากแบคทีเรียจึงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนที่เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอีกชนิดหนึ่งคือการใช้เซลล์เพาะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสามารถผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนที่มีคุณภาพดี และมีการแต่งเติมโปรตีนที่เหมือนกับในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนี้ มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากจะต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้มีความปลอดเชื้อสูงมาก อาหารเลี้ยงเซลล์ก็มีราคาแพง ดังนั้น ระบบการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในประเทศกำลังพัฒนา
การผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีน นอกจากจะเป็นโปรตีนที่ใช้ทางการแพทย์ ยังหมายรวมถึงโปรตีนที่เป็นเอนไซม์ของพืชที่ใช้ในการผลิตสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางยาในพืชได้อีกด้วย ซึ่งความหมายในที่นี้คือโปรตีนที่พืชสร้างขึ้นไม่ได้ถูกสกัดออกมาใช้ในการสังเคราะห์สาร หากแต่เป็นการทำให้พืชนั้นใช้เอนไซม์ในการสร้างสารสำคัญภายในเซลล์ของพืชเอง และในที่สุดเราสามารถสกัดแยกสารสำคัญนั้นออกมาได้ ปัจจุบันงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเพิ่มสารสำคัญในพืชมีความก้าวหน้าอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะใช้พืชเป็นฐานผลิตสารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้นกว่าการปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นทางเลือกในการผลิตสารสำคัญที่จะช่วยลดการเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรหายากจากธรรมชาติ การเพิ่มการผลิตสารสามารถทำได้หลายวิธี เช่น เทคนิคการควบคุมให้พืชผลิตเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารสำคัญเป้าหมายโดยการใส่ยีนที่เกี่ยวข้องให้แสดงออกในพืช เป็นต้น
การผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนที่ผ่านมาสามารถดำเนินการได้โดยใช้ระบบต่างๆดังที่ได้กล่าวมา พืชเป็นระบบที่เกิดขึ้นใหม่ และมีข้อดีที่เหนือระบบอื่นๆหลายอย่าง เช่น ต้นทุนการผลิตต่ำ ใช้ระยะเวลาการผลิตเร็ว มีการตกแต่งโปรตีนโดยการเติมหมู่น้ำตาลที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ ปราศจากเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคในคนและสัตว์ ผู้ทำงานกับพืชไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนั้น ยังสามารถขยายการผลิตให้ใหญ่ขึ้นในระดับโรงงานได้ ปัจจุบันนี้ มีการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนหลายชนิดในพืช และทดสอบแล้วว่าสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง เช่น โมโนโคลนอลแอนติบอดี วัคซีนซับยูนิต ไซโตไคน์ เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ เป็นต้น โดยรีคอมบิแนนท์โปรตีนที่ผลิตจากพืชที่ได้รับการรับรองจาก FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกา และออกขายสู่ท้องตลาดชนิดแรก คือ taliglucerase alpha เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการรักษาโรค Gaucher disease ผลิตจากเซลล์แครอท ออกจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า ELELYSO™ โดยบริษัท Protalix และ Pfizer ริคอมบิแนนท์โปรตีนจากพืชอีกชนิดที่มีผู้กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง คือ Zmapp เนื่องจากการระบาดล่าสุดของไวรัสอีโบล่า มีการนำยา Zmapp มาใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งยา Zmapp นี้ ประกอบด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่จำเพาะเจาะจงต่อไวรัสอีโบล่า 3 ชนิด โดยโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่เป็นส่วนประกอบของ Zmapp นี้ผลิตจากต้นยาสูบ จะเห็นว่า รีคอมบิแนนท์โปรตีนที่ผลิตจากพืช มีการนำมาใช้ในมาใช้รักษาในมนุษย์ และทดสอบแล้วว่ามีความปลอดภัยและสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในฐานะเภสัชกรที่มีหน้าที่ค้นพบและพัฒนายา การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้นิสิตได้มีความรู้ที่ทันสมัย นอกจากนั้น ระบบการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนอื่นๆที่จำเป็นในประเทศต่อไป ถ้าเภสัชกรนักวิจัย มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลิตโปรตีนที่มีความจำเป็นในประเทศ ประเทศก็จะมีความสามารถในการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนได้เองในประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทบทวนความรู้ และเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์จากพืช และ เกณฑ์ Good Manufacturing Practice ของการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์จากพืช
2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม มีความรู้พื้นฐานในการนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานด้านการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 02-218-8454 หรือ E-mail: CE@Pharm.chula.ac.th โดยมีอัตราค่าลงทะเบียนดังนี้ - การประชุมแบบบรรยาย ท่านละ 1,500 บาท - การประชุมแบบบรรยายและปฏิบัติการ ท่านละ 4,000 บาท