การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชกรรมปฐมภูมิเขต 7 ร้อยแก่นสารสินธุ์ “ใจถึงใจ...ใช้ยาอย่างเข้าใจกับเภสัชกรรมปฐมภูมิ : ความรู้สึกพิเศษ เพื่อทำสิ่งที่พิเศษ”
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชกรรมปฐมภูมิเขต 7 ร้อยแก่นสารสินธุ์ “ใจถึงใจ...ใช้ยาอย่างเข้าใจกับเภสัชกรรมปฐมภูมิ : ความรู้สึกพิเศษ เพื่อทำสิ่งที่พิเศษ”
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รหัสกิจกรรม 1009-2-000-006-11-2560
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
วันที่จัดการประชุม 02 พ.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรที่รับผิดชอบหรือสนใจงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ อาจารย์และบุคลากรของคณะ และนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่มาจากโรคไม่ติดต่อ (non-communicable disease) และโรคเรื้อรัง (chronic disease) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาด้วยยาในระยะยาว ดังนั้นการจัดการปัญหาสุขภาพทั้งการปฏิบัติตัวและการใช้ยาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการดูแลผู้ป่วยและจัดการปัญหาสุขภาพเหล่านี้ นอกจากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้ว การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพก็เป็นมาตรการลดปัญหาสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ อาทิ การสูบบุรี่ การดื่มสุรา การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ตลอดจนการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคตามที่โฆษณาหรือกล่าวอ้าง และผลิตภัณฑ์ที่มีการเจอปนสารต้องห้ามต่างๆ เป็นต้น
การจัดการปัญหาสุขภาพทั้งในด้านการรักษา การใช้ยา การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น เป็นบทบาทและหน้าที่หลักของเภสัชกร โดยเฉพาะเภสัชกรปฐมภูมิที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนในการดูแลและจัดการปัญหาระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน จากงานประชุมสมัชชาหนึ่งร้อยปีเภสัชกรรมไทยมีข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ว่า ในอนาคตผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังจะเพิ่มมากขึ้นและทิศทางของการจัดบริการสุขภาพไทยจะเน้นเรื่องการจัดการสุขภาพระดับปฐมภูมิมากขึ้น ดังนั้นงานเภสัชกรรมปฐมภูมิจะมีจำเป็นและความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและทิศทางของวิชาชีพเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้พัฒนาการเรียนการสอนในด้านชุมชนและงานเภสัชกรรมปฐมภูมิทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา โดยกลุ่มวิชาเภสัชศาสตร์สังคมมีการจัดทำหลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมปฐมภูมิ สำหรับเภสัชกรที่มีความสนใจและต้องการพัฒนาความรู้ ทักษะและการวิจัยสำหรับการทำงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ
โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการบริการวิชาการสู่สังคมเกี่ยวกับการทำงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยทำการประชุมเชิงวิชาการเพื่อทราบทิศทางและสถานการณ์ของงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ และเปิดโอกาสให้เภสัชกรปฐมภูมิได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ตลอดจนการจัดอมรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างทักษะในการทำงานเภสัชกรรมปฐมภูมิสำหรับเภสัชกร อาจารย์ บุคลากร และนิสิตนักศึกษาที่สนใจร่วมด้วย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับทิศทางและสถานการณ์ของการทำงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ
2. เพื่อจัดอบรมทักษะที่สำคัญในการทำงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยเฉพาะกระบวนการดูแลผู้ป่วยระดับครอบครัว และการจัดการปัญหาสุขภาพระดับชุมชน
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
สมัครทางโทรศัพท์ หมายเลข 043-754360