การประชุมวิชาการ
การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้ชีวสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต (The Use of Bioinformatics for Phylogenetic Analysis)
ชื่อการประชุม การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้ชีวสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต (The Use of Bioinformatics for Phylogenetic Analysis)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-001-01-2561
สถานที่จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่จัดการประชุม 17 -19 ม.ค. 2561
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ, นิสิต นักศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ, นัก
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 15.25 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) เป็นศาสตร์การจัดการข้อมูลทางชีววิทยาซึ่งมีอยู่เป็นปริมาณมากเพื่อการประยุกต์ใช้ในการศึกษาด้านต่างๆ ทั้งนี้การศึกษาเกี่ยวกับชีวสารสนเทศมีจุดกำเนิดในปี พ.ศ. 2533 โดยโครงการการศึกษาจีโนมของมนุษย์ (The Human Genome Project) โดยการสนับสนุนของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติและกรมพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้โครงการนี้เป็นโครงการทางเทคโนโลยีทางชีวภาพที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ โดยได้รับความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อศึกษาวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ในจีโนมของมนุษย์ และต่อมาได้เกิดการต่อยอดโครงการเพื่อศึกษาจีโนมในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น จีโนมข้าว จีโนมหนู จีโนมยีสต์ จีโนมของพืช Arabidopsis เป็นต้น
ในประเด็นความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์ของสิ่งมีชีวิตนั้น ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาการคอมพิวเตอร์ควบคู่กันไปด้วยจนเป็นที่มาของศาสตร์แขนงใหม่ที่ผนวกความรู้หลายด้านทั้งทางชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็คือ ชีวสารสนเทศศาสตร์ ทั้งนี้การศึกษาในศาสตร์นี้จะอาศัยการนำผลการทดลองจากการวิจัยในห้องปฏิบัติการ บันทึกลงในฐานข้อมูลและเมื่อต้องการออกแบบการทดลองใหม่ก็นำข้อมูลดังกล่าวมาช่วยในการวิเคราะห์ ทำนายสมมติฐาน หรือสร้างต้นแบบการทดลองใหม่ๆ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้การใช้ชีวสารสนเทศสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม การออกแบบโมเลกุลยา รวมถึงการประยุกต์ใช้ในทางวิศวกรรเมแทบอลิก เป็นต้น
ในปัจจุบันมีนักวิจัยนำชีวสารสนเทศมาใช้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านการศึกษาดีเอ็นเอบาร์โค้ดของสิ่งมีชีวิต การศึกษาฟังก์ชั่นและการแสดงออกของยีน การจัดจําแนกและการชี้เฉพาะสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตโดยเทียบความคล้ายคลึงจากลําดับเบส รวมถึงการสร้างแผนภาพต้นไม้แสดงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตขึ้นมา ทั้งนี้การเรียนรู้พื้นฐานและความเข้าใจในการใช้ข้อมูลชีวสารสนเทศรวมทั้งจึงมีความสำคัญและเป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จในการทำงานของนักวิจัยทางด้านชีววิทยาโมเลกุล
ในการนี้ศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกับภาควิชาชีวเคมีและจุลชีววิทยา จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้ชีวสารเทนเทศเพื่อการวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ขึ้น เพื่อให้นักวิจัยได้เรียนรู้และเข้าใจในการนำเอาองค์ความรู้ชีวสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้กับการศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนการวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
วัตถุประสงค์
1. อธิบายหลักการการใช้ชีวสารสนเทศศาสตร์ในการวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
2. ใช้เครื่องมือทางชีวสารสนเทศศาสตร์ในการวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
3. สามารถวิเคราะห์แผนภูมิวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต
คำสำคัญ
ชีวสารสนเทศ แผนภูมิวิวัฒนาการ การจำแนกสิ่งมีชีวิต ดีเอ็นเอบาร์โค้ด
วิธีสมัครการประชุม
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนได้ที่หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 02-218-8454 หรือ E-mail: CE@Pharm.chula.ac.th โดยมีอัตราค่าลงทะเบียนดังนี้ 1) การประชุมแบบบรรยาย (วันที่ 17- 18 มกราคม) ท่านละ 3,000 บาท 2) การประชุมแบบบรรยายและปฏิบัติการ (วันที่ 17-19 มกราคม) ท่านละ 5,000 บาท