การประชุมวิชาการ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการควบคุมคุณภาพและจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพร
ชื่อการประชุม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการควบคุมคุณภาพและจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพร
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-052-09-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 14 -15 ก.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร อาจารย์ นักศึกษาโดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา นักวิจัยผู้ปฏิบัติงานด้านสมุนไพรทั้งภาครัฐและเอกชนและผู้สนใจทั่วไป
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 9 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นกระแสที่กำลังมาแรงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ใช้เพื่อดูแลสุขภาพนั้น คุณภาพเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง แต่เดิมการใช้สมุนไพรผู้ใช้มักเก็บตามป่า ปลูกในบริเวณบ้าน เพื่อไว้ใช้ในครอบครัว หรือนำมาแลกเปลี่ยนกันในระหว่างชุมชน แต่เมื่อความต้องการสมุนไพรมีมากขึ้น จนบางชนิดกลายเป็นสินค้าส่งออก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนองความต้องการในปริมาณที่มากขึ้น เกิดกระบวนการการเพาะปลูกสมุนไพรและการเก็บเกี่ยว ทำให้คุณภาพของสมุนไพรในยุคปัจจุบัน มีความผันแปรจากหลายปัจจัย คุณภาพของยาสมุนไพรนั้นขึ้นอยู่กับสาระสำคัญ (active principles) ที่มีอยู่ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพของสมุนไพรเปลี่ยนแปลง มีทั้งปัจจัยภายใน (พันธุ์ของพืช ทั้งนี้ขึ้นกับ genes เป็นตัวกำหนด และกระบวนการชีวสังเคราะห์ โดยมีเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ เป็นตัวแปรที่สำคัญ) และปัจจัยภายนอก (สิ่งแวดล้อม เช่น ดิน อากาศ การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว)
จากปัญหาที่กล่าวมาเป็นปัจจัยที่ทำให้ยาสมุนไพรมีคุณภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมี การประเมินคุณภาพของสมุนไพร นอกจากนั้นในประเทศไทยมีการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ทั้งสมุนไพรเดี่ยวและสมุนไพรตำรับ แต่ปรากฏว่ามาตรฐานสมุนไพรที่ได้จัดทำไว้เพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับอ้างอิง ยังไม่ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ ทางภาครัฐโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันให้เกิดการจัดทำมาตรฐานของสมุนไพรเดี่ยวและตำรับยา โดยได้มีการเชิญชวนบุคลากรในสถาบันการศึกษา นักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเป็นผู้จัดทำ ในขณะที่การการควบคุมคุณภาพและจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพร เป็นเทคนิคเฉพาะที่นักวิจัยส่วนหนึ่งยังขาดทักษะ และประสบการณ์ ดังนั้น ทางศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เล็งเห็นว่าการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่องการการควบคุมคุณภาพและจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพร น่าจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ แก่ บุคลากรในสถาบันการศึกษา นักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนนักศึกษา โดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา และยังเป็นการเพิ่มเครือข่ายนักวิจัยในด้านนี้ ที่จะร่วมกันจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพร และตำรับยาสมุนไพร ต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพยาไทย ตามการส่งเสริมในแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ปีที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564)
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม มีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในด้านการควบคุมคุณภาพและจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพร
คำสำคัญ
การควบคุมคุณภาพ/การประเมินคุณภาพของสมุนไพร