การประชุมวิชาการ
การฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎีเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวสำหรับเภสัชกร
ชื่อการประชุม การฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎีเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวสำหรับเภสัชกร
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-046-08-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้อง 105 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่จัดการประชุม 21 ส.ค. 2560 - 01 ก.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 50 คน จากโรคพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 43.75 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคหัวใจและหลอดเลือดนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความรุนแรงในอันดับต้นๆ ของประเทศ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก และการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มากขึ้น โรคที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของโรคหัวใจหลายประเภทได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลวก็จะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร็วที่สูงมาก รายงานจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรคพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
จากงานวิจัย Thai Acute Decompensated Heart Failure Registry (ADHERE Study) พบว่า การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวยังต้องการการพัฒนา โดยเฉพาะในส่วนของการใช้ยาได้ตามมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสม
เนื่องจากผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวต้องรับประทานยาจำนวนมากเพื่อควบคุมไม่ให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบ ซึ่งตามแนวทางการปฏิบัติในปัจจุบันแนะนำให้มีการใช้ยาเพื่อควบคุมและป้องกันการดำเนินของโรคอย่างน้อย 5 ชนิดหรือมากกว่านั้นขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค โดยจำนวนชนิดของยาอาจเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10 ชนิดในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคร่วมหลายชนิด ซึ่งทำให้ปัญหาเรื่องความร่วมมือในการใช้ยากลายเป็นปัญหาสำคัญ โดยผลการวิจัยพบว่าความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเพียงร้อยละ 40-60 นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์และปฏิกิริยาระหว่างยาได้ง่ายอีกด้วย
รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวแบบสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team) ผ่านการจัดตั้งคลินิกหัวใจล้มเหลว (heart failure clinic) ได้รับการพิสูจน์ในงานวิจัยจำนวนมากว่า เป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มคุณภาพการรักษาให้ได้ตามมาตรฐาน เพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย ช่วยลดอัตราการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและลดอัตราการเสียชีวิต สำหรับประเทศไทยโรงพยาบาลหลายแห่งเช่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลระยอง สถาบันโรคทรวงอก และโรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทยศาสตร์หลายแห่ง ได้ดำเนินการจัดตั้งคลินิกหัวใจล้มเหลวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยผลงานวิจัยจากคลินิกเหล่านี้บางแห่ง แสดงให้เห็นว่า การดูแลผู้ป่วยในรูปแบบนี้ให้ผลเพิ่มคุณภาพการบริการและส่งผลดีต่อผู้ป่วยอย่างขัดเจน
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เกิดการขยายตัวของคลินิกหัวใจล้มเหลวตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 2560 – 2565
ของกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผลิตเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว เพื่อให้เภสัชกรเหล่านี้สามารถกลับไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งของคลินิกหัวใจล้มเหลวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามแผนดังกล่าว
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎีเชิงปฏิบัติการขึ้นเพื่อตอบรับกับความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการสร้างคลินิกหัวใจล้มเหลว โดยการผลิตเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 50-60 ท่าน เพื่อให้เภสัชกรเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ในการจัดตั้งและดำเนินการคลินิกหัวใจล้มเหลวเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยไทยต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของเภสัชกรโรงพยาบาลในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว และรองรับแผนการพัฒนาการจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจ
2. เพื่อให้เภสัชกรที่ผ่านการอบรมสามารถทำงานร่วมกันกับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งคลินิกโรคหัวใจล้มเหลวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว มีอัตราการเข้าโรงพยาบาลที่ลดลงและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งจะช่วยค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ
โรคหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure), การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical Care), เภสัชกร
วิธีสมัครการประชุม
ค่าลงทะเบียน 25,000 บาท/คน (ค่าลงทะเบียน รวมค่าเอกสาร อาหารกลางวันและอาหารว่าง ค่าเดินทาง ค่าตอบแทนแหล่งฝึก) โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรง