การประชุมวิชาการ
การฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎี เรื่อง การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ชื่อการประชุม การฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎี เรื่อง การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-043-06-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ ห้องประชุม 105 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่จัดการประชุม 19 -30 มิ.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวนไม่เกิน 50 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 47 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคหัวใจและหลอดเลือดนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความรุนแรงในอันดับต้นๆ ของประเทศ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) โดยเฉพาะยา warfarin เป็นยาที่มีความจำเป็นในการใช้ป้องกันและรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งมีแนวโน้มการใช้มากขึ้น แต่เนื่องจาก warfarin เป็นยาที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ทั้งความเสี่ยงด้านโรค ความเสี่ยงด้านยา และความเสี่ยงด้านระบบบริการ ที่สามารถก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์เล็กน้อย จนถึงรุนแรงและเสียชีวิตได้
โรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยได้ดำเนินการบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยเภสัชกรของโรงพยาบาล และพบว่าการที่เภสัชกรมีส่วนร่วมในทีมรักษา และมีการบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากยา warfarin ทำให้ผลการใช้ยา warfarin เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ของการบรรลุค่า international normalized ratio (INR) เป้าหมาย และการลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยา
ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยตามนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ภายใต้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผลิตเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างรวดเร็วและครอบคลุมสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศและเน้นการดูแลผู้ป่วยในลักษณะของเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป จนถึงโรงพยาบาลศูนย์ที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดขึ้นได้อย่างไร้รอยต่อ
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นภาคทฤษฎีในเรื่องดังกล่าวขึ้นเพื่อตอบรับกับความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการสร้างเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยที่ใช้ยา warfarin ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 50 ท่าน ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในภาคทฤษฎีนี้แล้วจะสามารถเข้าสู่การฝึกภาคปฏิบัติในโรงพยาบาลที่มีคลินิกวาร์ฟารินดำเนินการอยู่ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของเภสัชกรโรงพยาบาลในการให้บริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยที่ได้รับยา warfarin และรองรับแผนการพัฒนาการจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจ
2. เพื่อขยายบทบาทของเภสัชกรโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยา warfarin ให้กระจายตัวออกไปสู่โรงพยาบาลอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และโรงพยาบาลในเครือข่ายบริการ
3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่ได้รับยา warfarin ได้ประโยชน์จากยาสูงสุดและเกิดผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุด
คำสำคัญ
warfarin, pharmaceutical Care, เภสัชกร (การบริบาลทางเภสัชกรรม)
วิธีสมัครการประชุม
ค่าลงทะเบียน 10,000 บาท/คน (ค่าลงทะเบียน รวมค่าเอกสาร อาหารกลางวันและอาหารว่าง) โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรง