การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ครั้งที่ 5
ชื่อการประชุม โครงการประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ครั้งที่ 5
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-024-08-2560
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมตวันนา สุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 03 -04 ส.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยต่างๆ รวมทั้งบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ จำนวนประมาณ 13
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นความร่วมมือทางวิชาการในสาขาเภสัชศาสตร์ระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ 3 แห่งในประเทศอาเซียนและประเทศญี่ปุ่นกล่าวคือ Universiti Teknologi MARA (UiTM), Universitas Indonesia, Josai University และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามความร่วมมือนี้จะมีการขยายไปในประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียเช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเกาหลี เป็นต้น การประชุม IPNaCS นี้มีการจัดประชุมทุกปีโดยมีคณะเภสัชศาสตร์ทั้ง 4 แห่งเป็นเจ้าภาพหมุนเวียนกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน จากการประชุม IPNaCS ครั้งที่ 4 ที่เมืองมาละกา ประเทศมาเลเซีย เมื่อพ.ศ. 2558 คณะกรรมการจัดประชุมได้คัดเลือกให้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IPNaCS ครั้งที่ 5 ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดช่วงปลายปี 2559 หรือต้นปี 2560 ร่วมกับการประชุมวิจัยนานาชาติประจำปีครั้งที่ 33 และภายใต้โครงการ JSPS-NRCT Core University Exchange System on Natural Medicine in Pharmaceutical Sciences ในวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2560 แต่เนื่องจากเหตุผลทางเทคนิคและการประสานงาน การประชุม IPNaCS ครั้งที่ 5 ไม่สามารถดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าวได้ คณะกรรมการจัดประชุมจึงได้พิจารณาวันเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ต่อไปเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเดินทางมาร่วมประชุมได้โดยพร้อมเพรียงกัน

วัตถุประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้คือ ส่งเสริมให้นักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ อาจารย์และนิสิตนักศึกษาในสาขาเภสัชศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเภสัชผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ทั้งในประเทศไทย กลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ด้วยการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ อาทิเช่น การนำเสนอผลงานวิจัยของตนให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสรับทราบ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์วิจัย รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนและเสริมความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือของนักวิจัยไทยและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในต่างประเทศอีกด้วย

การประชุมครั้งนี้คณะกรรมการจัดงานได้กำหนดหัวข้อการประชุมเป็น “Innovative pharmaceuticals, nutraceuticals and cosmeceuticals for better health care” ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่มีต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น การประชุมนี้จะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ 3 – 4 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมตวันนา กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่ถือเป็นวันลาและมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ตามระเบียบของทางราชการ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นเภสัชกร จะได้รับการรับรองหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องจากสภาเภสัชกรรม การประชุมนี้จะประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและการนำเสนอผลงานวิจัยโดยนักวิจัยไทยและต่างประเทศรวมประมาณ 20 ท่าน รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ (oral and poster presentations) โดยครอบคลุมเนื้อหาดังนี้
1) Pharmaceutical chemistry and natural products
2) Pharmaceutical and cosmeceutical technology
3) Pharmacology and toxicology
4) Pharmaceutical biotechnology
5) Neutraceuticals and alternative medicines
6) Social pharmacy and pharmacy practice

ในการประชุมนี้มีจุดหมายในการเผยแพร่ผลงานวิจัยในวงที่กว้างขึ้น ดังนั้นผู้เข้าร่วมงานประชุมสามารถส่งผลงานวิจัยในรูปบทคัดย่อ (abstract) หรือบทคัดย่อร่วมกับบทความวิจัยฉบับย่อ (minipaper) ความยาว 4 หน้ากระดาษ A4 ตามรูปแบบที่กำหนด และผลงานทุกเรื่องจะได้รับการพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง (peer review) บทคัดย่อทั้งหมดที่ได้รับการตอบรับให้นำเสนอในงานประชุมนี้จะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือรวบรวมบทคัดย่อ ส่วนบทความวิจัยฉบับย่อจะตีพิมพ์ในหนังสือรวบรวมบทความวิจัย (proceedings) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวารสารไทยเภสัชสารฉบับเพิ่มเติม (supplement issue) โดยทั้งนี้ผลงานวิจัยในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ดีเด่นจะได้รับประกาศนียบัตรยกย่องความสำเร็จในช่วงปิดการประชุม ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนและส่งผลงานวิจัยได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปที่เว็บไซต์ www.pharm.chula.ac.th/ipnacs2017
วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเภสัชผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ในประเทศไทย และจากประเทศต่างๆ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการและวิจัย
2.2 เพื่อเปิดโอกาสให้เภสัชกร คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยในระดับสากลเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นผู้นำทางวิชาการของประเทศไทยในระดับภูมิภาค
2.3 เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยฝ่ายไทยได้พบปะทำความรู้จักคุ้นเคยกับนักวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย ในระหว่างบุคคลต่อบุคคลต่อไปในอนาคต
2.4 เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ในโครงการ IPNaCS และเพิ่มจำนวนสมาชิกในภูมิภาคนี้ในอนาคต
คำสำคัญ
การวิจัยและพัฒนา เภสัชผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง
วิธีสมัครการประชุม
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 1. ดร. วิน วินิจวัจนะ ผู้ประสานงานการประชุม โทร 087 5037389 หรือ E-mail: win.w@pharm.chula.ac.th 2. คุณอภิรดี ปัญญางาม หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 0-2218-8283 หรือ E-mail: CE@pharm.chula.ac.th