การประชุมวิชาการ
หลักการเลือกสูตรอาหารทางการแพทย์ที่เหมาะสมและการให้คำแนะนำด้านโภชนาการในร้านขายยา
ชื่อการประชุม หลักการเลือกสูตรอาหารทางการแพทย์ที่เหมาะสมและการให้คำแนะนำด้านโภชนาการในร้านขายยา
สถาบันหลัก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รหัสกิจกรรม 3001-2-000-011-06-2560
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 04 มิ.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม สมาคมร้านขายยา
กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยภายในร้านยา หรือผู้ได้รับอนุมัติฯใบประกอบกิจการร้านยาประเภทต่างๆ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 6 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การให้โภชนบำบัด ถือเป็นหนึ่งในการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ไวขึ้น แม้โภชนาการจะไม่ใช่ยา แต่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยให้หาย หรือฟื้นตัวจากโรคได้เร็วขึ้น ปัจจุบันนี้ การให้โภชนบำบัดมีวิวัฒนาการ ทั้งด้านการรักษา และสูตรอาหารที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยเฉพาะโรคต่างๆ การให้ความรู้ด้านโภชนาบำบัดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เภสัชกรประจำร้านขายยาจึงมีบทบาทสำคัญ ในการให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัด รวมถึงการให้คำแนะนำวิธีการดูแล และการเลือกสูตรอาหารได้อย่างถูกต้องตรงกับภาวะของร่ายกายและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ โภชนการ มีบทบาทสำคัญต่อคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยสูงอายุ ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ เภสัชกรประจำร้านขายยา จึงมีบทบาทที่สำคัญในการให้คำแนะนำปรึกษาด้านโภชนาการที่เหมาะสมกับประชากรในวัยสูงอายุ และกลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคไต และโรคเบาหวาน ทั้งนี้ มีข้อมูลว่ากลุ่มผู้สูงอายุ มีภาวะเสี่ยงขาดสารอาหารกว่า ร้อยละ 50 ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อได้ง่าย และเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากไม่ได้รับการเสริมภาวะโภชนาการที่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ในขณะที่ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ร้อยละ 50 มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะน้ำหนักลด และหากไม่ได้รับการเสริมโภชนาการที่เพียงพอ จะส่งผลให้เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีไม่ได้ ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้น การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง การดูแลโภชนาการในผู้ป่วยเบาหวานจึงมีบทบาทสำคัญมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควบคุมน้ำหนัก และควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนในผู้ป่วยโรคไตนั้น การขาดโปรตีนและพลังงานเป็นปัญหาทางโภชนาการที่พบในผู้ป่วยที่ได้รับการบาบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตเนื่องจากการได้รับอาหารไม่เพียงพอและมีการสูญเสียโปรตีนไปกับน้ำยาล้างไตซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อัลบูมินในเลือดต่ำอันนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น
เภสัชกรประจำร้านขายยาจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำปรึกษาการดูแลด้านโภชนาการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรคต่างๆ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเภสัชกรประจำร้านขายยาจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาได้ตรงตามโรค และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมให้สุขภาพของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ แข็งแรงขึ้น และช่วยให้การรักษาไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาบุคลากรเภสัชกรผู้ปฏิบัติการในร้านขายยาให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีหลักการในการดูแลให้คำปรึกษา และแนะนำด้านโภชนบำบัดรวมถึงการให้คำแนะนำวิธีการดูแลและการเลือกสูตรอาหารได้อย่างถูกต้องตรงกับภาวะของร่ายกายและมีประสิทธิภาพถูกต้องเหมาะสมกับกลุ่มผู้ป่วยแต่ละกลุ่มตามอาการการดำเนินของโรค โดยปราศจากอันตรายหรืออาการข้างเคียงจากการได้รับอาหารทางการแพทย์อย่างสูงสุด
ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการในครั้งนี้ต้องสามารถ
1. ซักประวัติและอาการผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง
2. ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัด รวมถึงการให้คำแนะนำวิธีการดูแล และการเลือกสูตรอาหารได้อย่างถูกต้องตรงกับภาวะของร่ายกายและมีประสิทธิภาพ
3. คัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
คำสำคัญ
อาหารทางการแพทย์ ภาวะทุพโภชนาการ โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง