การประชุมวิชาการ
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรม ครั้งที่ 24/2560 เรื่อง “การวิจัยแบบผสมผสานในทางเภสัชกรรมปฏิบัติ (Mixed Methods Research in Pharmacy Practice)
ชื่อการประชุม โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรม ครั้งที่ 24/2560 เรื่อง “การวิจัยแบบผสมผสานในทางเภสัชกรรมปฏิบัติ (Mixed Methods Research in Pharmacy Practice)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รหัสกิจกรรม 1005-2-000-034-05-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์
วันที่จัดการประชุม 17 -19 พ.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรจากกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, คณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวนประมาณ 60 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 17 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ความรู้ความก้าวหน้าในทางการแพทย์ เภสัชกรรม และระบบสุขภาพในปัจจุบันมีรากฐานมาจากการวิจัยเป็นหลักสำคัญ ในอดีตการวิจัยโดยส่วนใหญ่มักเป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นไปในด้านการวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดในแบบนิรนัย (deductive) โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อทดสอบทฤษฎีหรือสมมติฐาน การรวบรวมพรรณนาสารสนเทศ ตลอดจนการศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ การหาหลักฐานเชิงประจักษ์ การศึกษาเชิงเหตุและผลในตัวแปรที่สามารถวัดหรือประเมินเป็นตัวเลขได้ ซึ่งข้อดีของการวิจัยเชิงปริมาณที่มีการออกแบบการวิจัยที่ดีคือ การสามารถนำผลลัพธ์จากการวิจัยไปขยายผลอธิบายยังประชากรได้ (generalizability) ตลอดจนมีคุณสมบัติในการศึกษาซ้ำได้ในที่ต่าง ๆ (replicate) อย่างไรก็ดี การวิจัยเชิงปริมาณนั้น มีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะในบริบทที่มีความจำเพาะที่แตกต่างกันไป ในขณะที่การวิจัยเชิงคุณภาพที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดในแบบอุปนัย (inductive) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างทฤษฎี แนวคิด โดยได้ข้อมูลที่มาจากเชิงลึก และมุ่งเน้นการทำความเข้าใจถึงแนวคิดของปัจเจกบุคคลในลักษณะที่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาตินั้น การวิจัยเชิงคุณภาพจึงเป็นเสมือนแนวทางที่ตรงข้ามกันกับการวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งเป้าประสงค์หลักของการวิจัยเชิงคุณภาพ มิได้อยู่ที่การนำผลไปขยายยังประชากร แต่มุ่งเน้นการทำความเข้าใจเชิงลึกในกลุ่มที่ศึกษาเท่านั้น จึงมีข้อจำกัดในการนำไปขยายผลในเชิงกว้าง
แนวคิดของการวิจัยผสมผสานนั้น มาจากการนำระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพมาผนวกรวมเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ทั้งข้อดีในด้านการนำผลการวิจัยไปขยายสู่ประชากร ในขณะที่มีข้อมูลเชิงลึกจากการวิจัยคุณภาพมาขยายความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หากนำแนวคิดของการวิจัยผสมผสานมาใช้ในด้านเภสัชกรรมปฏิบัติ เภสัชกรจะมีองค์ความรู้ทั้งด้านการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านยาของโรงพยาบาล ที่มีทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ และข้อมูลเชิงคุณภาพจากทีมสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง การศึกษาการให้ความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย ซึ่งได้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ และในเชิงคุณภาพด้านความเข้าใจ การปฏิบัติตนของผู้ป่วย เป็นต้น ผลที่ได้จากการวิจัยที่มีทั้งภาพกว้างเชิงปริมาณและภาพลึกในด้านความเข้าใจที่ถ่องแท้ จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการบริบาลเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วย ตลอดไปจนกระทั่งถึงการบริหารจัดการในองค์กรและหน่วยงานต่อไป
วัตถุประสงค์
1. มีความรู้เกี่ยวกับการวิจัยแบบผสมผสาน
2. มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
3. สามารถออกแบบการวิจัยผสมผสานอย่างง่าย ให้เหมาะสมกับโจทย์ปัญหาวิจัยในด้านเภสัชกรรมปฏิบัติ
คำสำคัญ
Mixed Methods Research, Pharmacy Practice
วิธีสมัครการประชุม
Online