การประชุมวิชาการ
การประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิก ครั้งที่ 25/2560 เรื่อง การแพทย์แผนไทย การแพทย์ผสมผสานและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ (Thai Traditional Medicine, Integrative Medicine and the Products)
ชื่อการประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิก ครั้งที่ 25/2560 เรื่อง การแพทย์แผนไทย การแพทย์ผสมผสานและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ (Thai Traditional Medicine, Integrative Medicine and the Products)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-024-05-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
วันที่จัดการประชุม 22 -26 พ.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย เภสัชกร พยาบาล บุคลากรด้านสุขภาพ หัวหน้างานด้านสุขภาพ ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้สนใจ
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 30.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
วิถีชีวิตที่เร่งรีบและการพึ่งพาเทคโนโลยีทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาเพียงพอ อีกทั้งขาดความใส่ใจในการดูแลสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจึงพึ่งพาการแพทย์กระแสหลัก ในการซ่อมเสริมสุขภาพประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจวินิจฉัยและดูแลสุขภาพ จึงทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินจำเป็น ประกอบกับโรคภัยไข้เจ็บเริ่มมีความซับซ้อนและมีอัตราการตายมากขึ้น
การแพทย์แผนไทยเป็นการรักษาแบบดั้งเดิมสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย เป็นการ
ใช้วิธีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ มีการใช้ธรรมชาติบำบัด กายภาพบำบัด จิตบำบัดและการใช้ยา เพื่อบำบัดโรคให้แก่ผู้ป่วย การแพทย์แผนไทยได้อธิบายภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสภาวะปกติและสภาวะที่ผิดปกติ (เป็นโรค) โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกายผสมผสานองค์ความรู้จากอินเดีย พุทธศาสนาและองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นมาเอง กระบวนการทางการแพทย์แผนไทยจะเกี่ยวกับการตรวจ การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย รวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย การประดิษฐ์อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา
การแพทย์ผสมผสาน คือ การใช้การแพทย์ทางเลือก ร่วมกับการแพทย์กระแสหลัก โดยอาจรวมถึง องค์ความรู้ใหม่ด้านการผสมผสาน ความรู้ทางแพทย์แผนตะวันออกเข้ากับแผนตะวันตก
การแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) คือ การรักษาพยาบาลอีกรูปแบบหนึ่ง แตกต่างไปจากการแพทย์แผนปัจจุบัน (Conventional Medicine) เป็นวิทยาการผสมผสานให้ใกล้เคียงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ มิใช่การแพทย์ที่ให้การรักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบัน เป็นการรักษานอกเหนือไปจากการรักษาหลักที่ยอมรับกันทั่วไป อาจเริ่มมาจากความเชื่อ ปรัชญา การสังเกตและบางอย่างยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรใดๆ ที่นำมาใช้ เมื่อมีการพิสูจน์ว่าได้ผลจริงและปลอดภัย ก็จะได้รับการยอมรับและนำมาใช้กันทั่วไปจนกลายเป็นการแพทย์ทางหลักได้ สำหรับประเทศไทยกระแสความตื่นตัวเรื่องการแพทย์ทางเลือกในสังคมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ และในโรงพยาบาลก็มีการเลือกใช้การแพทย์ทางเลือกในการรักษาผู้ป่วย อย่างแพร่หลาย การจัดการประชุมฯในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในด้าน การรักษาบำบัด ดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพที่ดีต่อไป โดยการประยุกต์ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมฯ มีความรู้ ความเข้าใจ เบื้องต้นเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทยและ
การแพทย์ผสมผสาน
2. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมฯ มีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการและขั้นตอนของการแพทย์แผนไทย
และการแพทย์ผสมผสานได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานวิชาการ
3. เพื่อให้ผู้เข้าประชุมฯ มีประสบการณ์ เกิดความชำนาญ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้
ดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับตนเองและผู้อื่นได้
คำสำคัญ
การแพทย์แผนไทย การแพทย์ผสมผสานและผลิตภัณฑ์ที่ใช้