การประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการเภสัชจุลชีววิทยา ครั้งที่ 3 เรื่อง วัคซีนสำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ Vaccines for emerging and re-emerging infectious diseases
ชื่อการประชุม การประชุมวิชาการเภสัชจุลชีววิทยา ครั้งที่ 3 เรื่อง วัคซีนสำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ Vaccines for emerging and re-emerging infectious diseases
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รหัสกิจกรรม 1002-2-000-013-05-2560
สถานที่จัดการประชุม ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่จัดการประชุม 25 -26 พ.ค. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกร บุคลากรสายสุขภาพ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้สนใจ จำนวน 155 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านสุขภาพอนามัย ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นขณะนี้มาจากสาเหตุทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ (emerging and re-emerging infectious diseases) ที่มีการระบาดเพิ่มสูงขึ้น การระบาดที่เป็นวงกว้างส่งผลกระทบอย่างมากไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม กลไกที่สำคัญคือการป้องกัน ควบคุมและเฝ้าระวังการระบาดของโรค โดยหนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือการเสริมสร้างภูมิต้านทานโดยให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค
สำหรับประเทศไทย หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุขระยะ 20 ปี (2559 - 2579) ตามนโยบายรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 เพื่อรองรับอนาคตที่มีความเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุ คือการวางเป้าหมายให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ซึ่งแผนงานสำคัญที่สอดรับกับยุทธศาสตร์นี้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มทุกวัยรวมถึงการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ การให้ความรู้ทางด้านสุขภาพและการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคด้วยวัคซีน จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะตอบรับกับแผนงานดังกล่าว เพื่อลดปัญหาของการติดเชื้อและการระบาด อันเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยได้
เนื่องจากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องขององค์ความรู้ งานวิจัยรวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ตอบรับกับการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ดังนั้น เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสหวิชาชีพสาขาต่างๆ จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ติดตามสถานการณ์ทางด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ รวมถึงความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ ร่วมกันในการวางนโยบาย แผนงานและสร้างกลไกในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ ส่งเสริมให้การใช้วัคซีนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค รวมทั้งการให้ความรู้ในการป้องกันและปฏิบัติตัวกับประชาชนเมื่อต้องเดินทางไปในแหล่งที่มีการระบาด และการสร้างสื่อเผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชนอันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขแบบยั่งยืน
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น จึงจัดประชุมวิชาการเภสัชจุลชีววิทยา ครั้งที่ 3 เรื่อง วัคซีนสำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ (Vaccines for emerging and re-emerging diseases) ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการให้แก่เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความสนใจ อันจะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานร่วมกันในลักษณะของสหวิชาชีพในการป้องกัน ควบคุมและให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนรวมถึงโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับความรู้และเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ
2. เพื่อส่งเสริมให้เภสัชกรและบุคลากรสายสุขภาพมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับวัคซีนในการป้องกันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ
3. เพื่อสามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ทีมสุขภาพ ในเรื่องการบริหารวัคซีน ระบบการจัดเก็บและกระจายวัคซีน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน
คำสำคัญ
โรคติดเชื้ออุบัติใหม่,โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ, Vaccines
วิธีสมัครการประชุม
สมัครผ่านเว็บไซต์ www.pharmacy.mahidol.ac.th/conference พร้อมชำระเงินโดยโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-443603-5 ชื่อบัญชี “การประชุมวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” พร้อม scan หรือ fax ใบโอนเงินชำระค่าลงทะเบียน (ใบ pay in) ทางโทรสาร หมายเลข 02-644-4536 (ในวันประชุมโปรดนำใบฝากธนาคารตัวจริงมาด้วยเพื่อตรวจสอบ)