การประชุมวิชาการ
*ยกเลิกการจัดงานประชุม : การประเมินผลเพื่อการพัฒนาทางเภสัชกรรม Developmental Evaluation in Pharmacy Practice
ชื่อการประชุม *ยกเลิกการจัดงานประชุม : การประเมินผลเพื่อการพัฒนาทางเภสัชกรรม Developmental Evaluation in Pharmacy Practice
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-002-06-2560
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพมหานคร
วันที่จัดการประชุม 19 -23 มิ.ย. 2560
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรทั้งภาครัฐและเอกชน/ผู้เกี่ยวข้อง/ผู้สนใจ และคณาจารย์เภสัชศาสตร์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 26 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ระบบสุขภาพ คือ ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีขอบเขตและความหมายที่กว้าง มีเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่กระทบมากมาย ทั้งปัจจัยด้านบุคคล สิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงระบบบริการสุขภาพ ทำให้ในยุคปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงความหมายของคำว่า “สุขภาพ” จึงมีกระบวนทัศน์ที่มีความหมายกว้างและครอบคลุมถึงสุขภาพในหลายมิติ ทั้งร่างกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ไม่ใช่เพียงการปราศจากโรคและ การเจ็บป่วยเท่านั้น
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานกลับมีจำนวนลดลง ความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรนี้ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะปัญหาค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มที่จะมีโรคภัย ไข้เจ็บมากกว่าหนึ่งชนิด ส่งผลให้ต้องรับประทานยาจำนวนมาก นำไปสู่ความเสี่ยงด้านยา เช่น การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ปัญหาในการรับประทานยา รวมถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการตีกันของยาบางชนิด เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยและการดำเนินไปของโรคในอนาคต นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน การใช้สารเคมีมากขึ้น ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่รีบเร่ง พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค เช่น การบริโภคบุหรี่ พฤติกรรมบริโภคนิยม ช่องว่างทางสังคมที่มากขึ้น ระบาดวิทยาการเกิดโรค เช่น โรคอุบัติใหม่ ความก้าวหน้าในเชิงธุรกิจ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจยาข้ามชาติ มีการสื่อสารและคมนาคมที่รวดเร็ว การเปิดพรมแดน มีการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างอิสระ อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นระหว่างประเทศ รวมถึงปัจจัยเชิงนโยบาย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรทางสุขภาพ และการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสถานะสุขภาพของคนไทย ทำให้สภาพปัญหาทางสุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาวะ มีความซับซ้อนกว่าในอดีตมาก
ความสลับซับซ้อนของระบบสุขภาพ ทำให้ปัจจัยที่มีผลต่อระบบสุขภาพมีหลายมิติ อาทิ ความเกี่ยวโยงกันของปัจจัยทางระบาดวิทยา ปัจจัยเชิงปัจเจกบุคคล ปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ความเชื่อและทัศนคติ ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้กระบวนทัศน์ความคิดแบบเดิม ที่มองปัญหาแบบเหตุเดี่ยวผลเดี่ยว จัดการแบบกลไก แยกส่วน และลดทอน จำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็นการคิดเชิงระบบในแบบบูรณาการหรือองค์รวม การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสุขภาพที่เกิดขึ้นนี้ต้องอาศัยฐานความคิดเรื่องธรรมชาติของความซับซ้อน เพื่อให้เห็นแนวทางของการวิเคราะห์และเข้าใจการเกิดวิกฤติการณ์อย่างเป็นรูปธรรม ปรับเปลี่ยนการจัดการตนเอง และสรรพสิ่งให้ถูกต้อง เหมาะสม มีสมดุล จนกระทั่งสามารถสร้างแผนงาน โครงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ แก้ปัญหาได้จริง และส่งผลดีต่อผู้ป่วย ชุมชน และสังคม และระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ
การมองปัญหาในระบบสุขภาพไม่รอบด้านนั้น จะส่งผลให้ทิศทางการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างไม่ตรงจุด แต่การปรับกระบวนทัศน์ความคิดให้มองปัญหาอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง จะนำไปสู่แนวคิดในการปรับกระบวนการทำงานปัจจุบัน ปรับลักษณะโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปรับวิธีในการจัดการกับปัญหาที่ลงลึกไปถึงการจัดการกับจุดคานงัดของปัญหาได้ ตัวอย่างเช่น การจัดการปัญหาโรคความดันโลหิตสูง การให้ความรู้ผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลเสมอไป หากต้นตอของปัญหานั้นอยู่ลึกเกินกว่าที่เราจะมองเห็น และเมื่อต้องการจัดโครงการเรื่องโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เราอาจนึกถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน วิธีการปรุงอาหารที่ถูกต้อง และการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผลของโครงการมักได้รับผลดีในระยะสั้น เกิดประโยชน์เฉพาะผู้ที่ยังขาดความรู้ในประเด็นนี้ แต่ในระยะยาวโครงการอาจไม่ได้ผล เนื่องจากละเลยสาเหตุอื่นที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาหารได้ เช่น ปัจจัยส่วนบุคคล สภาพครอบครัว วิถีชีวิตที่รีบเร่ง การใช้ชีวิตในชุมชนเมือง พฤติกรรมบริโภคนิยม อาหารสุขภาพมีทางเลือกน้อยและมีราคาแพง เป็นต้น
เภสัชกรเป็นวิชาชีพหนึ่งในทีมบุคลาการทางสุขภาพ มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งมิได้จำกัดเพียงแค่บทบาทการจ่ายยาและให้คำปรึกษาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการค้นหา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ เภสัชกรยังเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยและชุมชน เนื่องจากเป็นด่านแรกที่ผู้ป่วยจะเข้าถึงได้ผ่านการมารับบริการที่ร้านขายยา และโรงพยาบาล ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญของระบบสุขภาพในการจัดการ แก้ไข และป้องกันปัญหาทางสุขภาพของประชาชน ดังนั้นการพัฒนาเภสัชกรให้มีฐานความคิด ความเข้าใจ ผู้ป่วย ชุมชน และสังคมในความสลับซับซ้อนของเหตุปัจจัยและระบบสุขภาพ จึงมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพงานเภสัชกรรม และเสริมสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และพึ่งพิงตนเองได้ อันจะทำให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติในอนาคต
นอกจากการส่งเสริมให้เภสัชกรพัฒนาโครงการการให้บริการด้านเภสัชกรรมหรือการดูแลส่งเสริมสุขภาพบนฐานแนวคิดเรื่องความสลับซับซ้อนของเหตุปัจจัยและระบบสุขภาพแล้ว การประเมินผลการดำเนินงานก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่มีความสำคัญในการสะท้อนสถานการณ์ความสำเร็จหรือความล้มเหลวและพลวัตของปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในโครงการต่างๆ ทั้งยังเป็นเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในวงจรคุณภาพ เพื่อเป็นข้อมูลกลับมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปใช้พัฒนาการดําเนินงาน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และมองหาโอกาสในการพัฒนางานในครั้งต่อไป
กระบวนการประเมินผลควรเป็นกลไกส่งเสริมให้มีการพัฒนางานและคนทํางาน การประเมินผลที่ดีควรจะมุ่งสนใจกระบวนการทำงานมากกว่าผลผลิตหรือผลลัพธ์ ค้นหาช่องว่างการพัฒนาและค้นหาแนวทางปฏิบัติที่ดี มุ่งสนใจการรับฟังสุข ทุกข์ เรื่องราวความสำเร็จ มากกว่าตัดสิน วัดค่า ชี้ถูกชี้ผิด และต้องมีกระบวนการติดตามประเมินผลที่เป็นกลไกภายในของทุกระดับบนฐานการมีส่วนร่วม มีการการเรียนรู้และเกิดการพัฒนาของทุกฝ่ายทั้งทีมประเมินและคนทํางาน รวมถึงการใช้ความแตกต่างหลากหลายเป็นจุดแข็งกำหนดให้การประเมินเป็นศิลปะขั้นสูงสุดสู่สามัญ คือ “การเปลี่ยนความธรรมดา ความคุ้นเคย เป็นข้อมูล ข้อมูลเป็นความรู้ จากความรู้ไปสู่การแก้ปัญหาและความทุกข์”
นอกจากนี้กระบวนการประเมินผลควรเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานและคนทํางาน มากกว่าการวัดปริมาณของสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการดําเนินงาน มากกว่าการแสดงความสัมพันธ์ของผลลัพธ์สุดท้ายกับกิจกรรม มากกว่าการตัดสินถูกผิดผ่านตก การสนใจเพียงผลลัพธ์เชิงปริมาณ การตัดสินโทษ หรือถูกผิด กำลังเป็นวิกฤติของการประเมินผลกระแสหลัก การประเมินควรเป็นกระบวนการทบทวนตรวจสอบตําแหน่งแห่งที่ของผลงานในปัจจุบัน แล้วสะท้อนย้อนคิดถึงเป้าหมายที่แท้จริงของงานทั้งนี้เพื่อกําหนดแนวทางการดําเนินงานต่อในอนาคต การได้มาซึ่งข้อมูลที่แท้จริงจากการประเมินเป็นความจําเป็นพื้นฐานในการกําหนด ทิศทางการพัฒนางานที่ถูกต้อง ความสามารถในการคลี่ความซับซ้อนของเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าใจความเชื่อมโยงจนมองเห็นช่องว่างในการพัฒนา การมีส่วนร่วมในการมองต่างมุม ตั้งคําถามเพื่อชวนคิด ทั้งจากเรื่องราวของความสําเร็จและบทเรียนของความล้มเหลว รวมถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรตั้งแต่เริ่มต้นจนตลอดเส้นทางการดําเนินงาน ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจสําคัญของการประเมินเพื่อการพัฒนา (Developmental evaluation - DE) ซึ่งจะนําไปสู่การพัฒนาการดําเนินงานโครงการพัฒนาสุขภาพและ งานบริการด้านเภสัชกรรมต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้เภสัชกรผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจถึงวิกฤติระบบสุขภาพ วิกฤติการพัฒนา และวิกฤติการประเมินผลกระแสหลัก และสามารถมองวิกฤติของการพัฒนาผ่านแนวคิด ความซับซ้อน (Complexity)
2.เพื่อให้เภสัชกรผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจการประเมินเพื่อการพัฒนา (Developmental Evaluation) ในประเด็นของปรัชญา แนวคิด และกระบวนการ
3.เพื่อให้เภสัชกรผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจและสามารถนำเครื่องมือและทักษะในการประเมินมาใช้เพื่อการพัฒนาได้
4.เพื่อให้เภสัชกรสามารถนำความรู้ด้านการประเมินเพื่อการพัฒนาไปต่อยอดในการพัฒนางานเภสัชกรรม และขยายบทบาทการบริการให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นและตรงกับความต้องการของผู้รับบริการได้
คำสำคัญ
ระบบสุขภาพ, ความซับซ้อน (Complexity), โครงการพัฒนาสุขภาพ, วิกฤติการพัฒนา, วิกฤติการประเมินผลกระแสหลัก, การประเมินเพื่อการพัฒนา
วิธีสมัครการประชุม
-