บทความวิชาการ
การออกแบบการศึกษาความเข้ากันระหว่างยากับสารช่วยในยาเม็ด
ชื่อบทความ การออกแบบการศึกษาความเข้ากันระหว่างยากับสารช่วยในยาเม็ด
ผู้เขียนบทความ รศ.ดร.ภก.เพียรกิจ แดงประเสริฐ
สถาบันหลัก วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รหัสกิจกรรม 1012-1-000-002-12-2561
ผู้ผลิตบทความ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 27 ธ.ค. 2561
วันที่หมดอายุ 26 ธ.ค. 2562
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ยาเม็ดประกอบด้วยตัวยาสำคัญและสารช่วยทางเภสัชกรรมที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กันเพื่อให้กระบวนการผลิตยาเม็ดดำเนินไปได้ด้วยดี สามารถผลิตยาเม็ดที่มีลักษณะภายนอกสวยงาม ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและกายภาพเกินขอบเขตที่ยอมรับได้ตลอดช่วงอายุของยาเม็ด ปัจจัยที่มีผลต่อความคงสภาพของยาเม็ดอาจเป็นปัจจัยจากภายนอก เช่น ความร้อน ความชื้นของบรรยากาศ ออกซิเจนในอากาศ หรือปัจจัยภายใน ได้แก่สารช่วยต่าง ๆ ที่มีอยู่ในยาเม็ด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาความเข้ากันได้ระหว่างยากับสารช่วยที่ใช้ในตำรับยาเม็ด ปัจจุบันสารช่วยเหล่านี้มีจำนวนมากและมีหน้าที่แตกต่างกันไป ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการศึกษาความเข้ากันได้ของยากับสารช่วยทุกชนิด ด้วยเหตุนี้การศึกษาความเข้ากันระหว่างยากับสารช่วยในยาเม็ดโดยใช้วิธีการออกแบบการศึกษาที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่เชื่อถือได้มากที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่ไม่สูงเกินไป บทความนี้นำเสนอวิธีการออกแบบการศึกษาความเข้ากันระหว่างยากับสารช่วยในยาเม็ด 2 วิธี คือ วิธีการออกแบบตามกลุ่มหน้าที่ (functional class design) ซึ่งไม่ได้อาศัยหลักสถิติในการออกแบบ และวิธีการออกแบบชนิด Plackett-Burman (Plackett-Burman design) ซึ่งออกแบบโดยอิงตามหลักสถิติ ตลอดจนกล่าวถึงวิธีดำเนินการการศึกษา และยกตัวอย่างของการออกแบบการศึกษาความเข้ากันได้ของยากับสารช่วยทั้ง 2 วิธี
คำสำคัญ
การออกแบบการศึกษาความเข้ากันกับสารช่วย ยาเม็ด ความคงสภาพ