บทความวิชาการ
วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น
ชื่อบทความ วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น
ผู้เขียนบทความ อาจารย์ เภสัชกรหญิงสิรินุช พละภิญโญ
สถาบันหลัก โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
รหัสกิจกรรม 4001-1-000-003-12-2561
ผู้ผลิตบทความ โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 25 ธ.ค. 2561
วันที่หมดอายุ 24 ธ.ค. 2562
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 4 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคภูมิแพ้เป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสารก่อภูมิแพ้มีหลายชนิดมักอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรืออาหารซึ่งปกติจะไม่ก่ออันตรายหรืออาการผิดปกติในผู้ที่ไม่แพ้ แต่ในผู้ป่วยเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้จะสร้างภูมิคุ้มกันชนิด Immunoglobulin E กระตุ้นให้เกิดการหลั่งสาร Histamine ที่เนื้อเยื่อส่งผลให้เยื่อบุที่อวัยวะต่างๆ มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ มากกว่าปกติ ซึ่งแสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) โรคหอบหืด (asthma) โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) เป็นต้น อุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การเกิดโรคภูมิแพ้สูงขึ้นทุกปี อุบัติการณ์โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในปี พ.ศ. 2551 เพิ่มขึ้นคิดเป็น 3 เท่า นับจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2545 แม้ว่าอาการแสดงของโรคดังที่กล่าวมานั้นไม่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิต แต่มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาแก้แพ้ (antihistamines) และกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) ตามแนวทางการรักษาแต่ตอบสนองต่อการรักษาไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และการเข้าสังคม รวมถึงนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรง จึงพัฒนาการรักษาภูมิแพ้ด้วยวัคซีนภูมิแพ้หรือที่เรียกว่า allergen specific immunotherapy (SIT) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโดยการให้วัคซีนที่เตรียมจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ผู้ป่วยแพ้ทีละน้อย ๆ เพื่อมากระตุ้นให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่นรวมถึงแมลงชนิดต่าง ๆ ซึ่งการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุทำได้ยาก ดังนั้นการรักษาภูมิแพ้ด้วยวัคซีนภูมิแพ้นั้น ถือเป็นการรักษาที่สาเหตุ เป็นวิธีจำเพาะเฉพาะบุคคลช่วยให้ผู้ป่วยคุมอาการของโรคภูมิแพ้ได้เป็นเวลานาน คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นรวมถึงลดโอกาสกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ วัคซีนภูมิแพ้เริ่มศึกษาและนำมาใช้ในการรักษาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน Leonard Noon และคณะ นำเสนอข้อมูลการฉีดวัคซีนภูมิแพ้เข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous specific immunotherapy, SCIT) ปัจจุบันผลการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ชนิดฉีดให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีทั้งผู้ป่วยโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) ผู้ป่วยโรคหืดจากภูมิแพ้ (allergic asthma) และผู้ป่วยภูมิแพ้แมลง (sting insect hypersensitivity) จึงพยายามพัฒนาทั้งสูตร (regimen) และรูปเภสัชภัณฑ์วัคซีนใหม่ โดยคำนึงถึงทั้งประสิทธิผลการรักษา ความปลอดภัยจากวัคซีนเรื่องโอกาสเกิดอาการแพ้รุนแรงชนิดเฉียบพลัน (anaphylaxis) และผลข้างเคียงต่อระบบของร่างกาย (systemic reactions) รวมถึงความสะดวกในการรับวัคซีน วัคซีนภูมิแพ้รูปแบบเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น (sublingual specific immunotherapy, SLIT) จึงเป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่ศึกษาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไรฝุ่นถือเป็นสารก่อภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุหลักในการก่อโรค การกำจัดหรือหลีกเลี่ยงไรฝุ่นมีประโยชน์ในการรักษาเพียงเล็กน้อย อาจทำได้ยาก ดังนั้นในบทความนี้กล่าวถึงวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดอมใต้ลิ้นซึ่งเป็นเภสัชภัณฑ์ใหม่ที่น่าจะมีบทบาทในการรักษาภูมิแพ้ต่อไปในอนาคต
คำสำคัญ
ภูมิแพ้ ไรฝุ่น วัคซีน