บทความวิชาการ
สองโรคร้ายอันตรายถึงชีวิตในช่วงน้ำท่วม Cholera และ Leptospirosis
ชื่อบทความ สองโรคร้ายอันตรายถึงชีวิตในช่วงน้ำท่วม Cholera และ Leptospirosis
ผู้เขียนบทความ ภก.ปริญญา ปั้นพล
สถาบันหลัก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
รหัสกิจกรรม 5003-1-000-002-09-2561
ผู้ผลิตบทความ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 28 ก.ย. 2561
วันที่หมดอายุ 27 ก.ย. 2562
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม และมีฝนตกหนักในช่วงฤดูฝน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้บ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมขังแล้ว โรคที่มักจะมากับน้ำที่ท่วมขัง ก็คือ อหิวาตกโรค และโรคฉี่หนู อหิวาตกโรค (Cholera) โรคระบาดชนิดหนึ่งที่มีอาการท้องร่วง อาเจียน ร่างกายจะขับน้ำออกมาเป็นจำนวนมากจนทำให้ร่างกายขาดน้ำ การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคมักเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโดยเฉพาะอาหารทะเลที่นิยมรับประทานค่อนข้างดิบ และเกิดได้ทุกช่วงอายุ การรักษาจะต้องแก้ไขภาวะขาดน้ำก่อนและให้ดื่ทเกลือแร่ของเหลว รวมทั้งให้อาหารหลังแก้ไขภาวะขาดน้ำแล้ว นอกจากนี้ การใช้ยาจะช่วยในการกำจัดเชื้อได้ในระยะสั้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น ส่วนโรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน พบโรคนี้ได้มากตามจังหวัดที่ทำการปลูกข้าว บริเวณที่ต้องย่ำน้ำ หรือแหล่งน้ำขังที่มีพาหะนำโรคชุกชุม โดยเฉพาะหนูนา หนูพุก อาการของโรคจะมีทั้งที่ไม่รุนแรง หรือแบบไม่เหลือง จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีอาการอื่นแทรกซ้อนบ้าง และแบบที่มีอาการรุนแรงหรือเรียกว่ากลุ่มอาการเวล ซึ่งพบว่ามีอัตราการตายถึง 5-15% สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ต้องได้รับยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ไปสัมผัสกับสิ่งที่อาจปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว และหากมีอาการควรพบแพทย์ทันที
คำสำคัญ
Cholera, Leptospirosis, อหิวาตกโรค, โรคฉี่หนู, การใช้ยาปฏิชีวนะ