บทความวิชาการ
โรคไข้เลือดออกและวัคซีนไข้เลือดออก
ชื่อบทความ โรคไข้เลือดออกและวัคซีนไข้เลือดออก
ผู้เขียนบทความ ภญ.อรพรรณ สุวรรณประดิษฐ์
สถาบันหลัก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
รหัสกิจกรรม 5002-1-000-006-07-2560
ผู้ผลิตบทความ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
การเผยแพร่บทความ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน 
วันที่ได้รับการรับรอง 17 ก.ค. 2560
วันที่หมดอายุ 16 ก.ค. 2561
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 1.5 หน่วยกิต
บทคัดย่อ
โรคไข้เลือดเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค จากการนำเสนอข่าวเรื่องไข้เลือดออกของสื่อต่างๆเกี่ยวกับผู้ป่วยในปัจจุบันที่มีมากขึ้นทำให้ประชาชนตื่นตัวและเริ่มมีการเฝ้าระวังและหาวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกกันมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการ โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) อยู่ใน family Flaviviridae อาการของโรคจะคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยหลายรายเข้าใจว่าตนเป็นเพียงไข้หวัดจึงไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีหากมีอาการรุนแรงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกเริ่มระบาดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ 2501 สถิติในปี พ.ศ. 2558 รายงานโดยกลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีอัตราป่วย 213.12 และอัตราป่วยตาย 0.21 ซึ่งหมายความว่า ในประชากร 100,000 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 213.12 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 0.21 คน และจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 - 11 ก.ค. 2560 พบผู้ป่วย 11,659 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 17.82 ต่อ ประชากร 100,000 คน เสียชีวิต 0 ราย อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 1: 0.98 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลําดับ คือ15-24 ปี (25.65 %) 10-14 ปี (20.29 %) 25-34 ปี (13.73 %) จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากร 100,000 คน สูงสุด 5 อันดับ แรกคือ พัทลุง 75.73 นครศรีธรรมราช 64.31 ตาก 60.63 สงขลา 59.75 ระนอง 58.69 ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 41.67 ภาคเหนือ 19.89 ภาคกลาง 12.99 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11.54 ตามลําดับ
คำสำคัญ
โรคไข้เลือดออก,วัคซีนไข้เลือดออก,ไวรัสเดงกี่